นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 4 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสหารือกับศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ (National -Informatics Centre หรือ NIC) ของสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการด้านการเกษตรที่ศูนย์สารสนเทศแห่งชาติดำเนินการ รวมทั้งนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตรของอินเดีย โดยเฉพาะโครงการและซอฟแวร์ด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพที่ NIC ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตรของอินเดีย
“ศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ (NIC) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในโครงการออกแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและบริการของภาครัฐ หรือ e Governance รวมถึงการพัฒนาและใช้งานระบบ e-Governance ในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านเกษตรและอาหาร ด้านพัฒนาพันธุ์สัตว์ ด้านประมง ด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีด้านการสำรวจระยะไกล และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ระบบการรายงานและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคสัตว์ โปรแกรมการรวบรวมข้อมูลผู้ค้าปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และมีบริการให้คำแนะนำเกษตรกรผ่านข้อความ SMS รวมถึงการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานด้านเกษตรที่เกี่ยวข้องนำมาจัดทำข้อมูลที่สำคัญ เช่น เมล็ดพันธุ์ ราคาและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ คำแนะนำเกี่ยวกับฤดูการเพาะปลูก สถานที่ และพืชที่เหมาะสม ข้อมูลดินและปุ๋ย เทคนิคการเพาะปลูกของพืชแต่ละชนิด โรคพืช การจำแนกเขตภูมิศาสตร์พืชตามลักษณะอุณหภูมิ/ ความชื้น เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ ดังนั้น หากมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันก็จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทยในการทำการเกษตรแม่นยำเพิ่มมากขึ้นได้” นายกฤษฏา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันที่จะให้มีความร่วมมือระหว่างศูนย์สารสนเทศแห่งชาติและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบของทั้งฝ่ายหารือรายละเอียดของความร่วมมือต่อไป เช่น การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญอินเดียมาไทย การจัดส่งนักวิชาการไทยไปอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ หรือการประชุม สัมมนา และทดลองนำซอฟแวร์ของอินเดียมาใช้ในพื้นที่นำร่องในไทย (Pilot project เป็นต้น เนื่องจากภาคเกษตรของไทยและอินเดีย มีลักษณะคล้ายกันหลายประการ เช่น เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ปลูกพืชหลักชนิดเดียวกัน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและยางพารา ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายจัดทำข้อมูล (big data) กลุ่มเกษตรกรให้เป็นระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ตามกรม กอง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือให้กระทรวงอื่นๆ นำไปจัดทำโครงการประสานเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น