วิกฤต “เทียนกง-1” โหม่งโลก ไทยเสี่ยง ! แจ็กพอตโดนเศษซากตกใส่

ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับปัญหาการจัดการ “ขยะอวกาศ” และการแก้ไขภาวะวิกฤตจากกรณีสถานีอวกาศ “เทียนกง-1” ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นภารกิจ และกลับลงสู่โลก ภายใน 3 เดือนนี้ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2561


ภารกิจเทียนกง-1

สถานี อวกาศเทียนกง-1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ๋วฉวน มณฑลกานซู มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. มีขนาด 8.5 ตัน เพื่อทดสอบปฏิบัติการหลายอย่างในอวกาศ และเตรียมการขั้นต้นสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนให้เสร็จภายในปี 2563


เทียน กง-1 มีความพิเศษ เพราะติดตั้งระบบการเชื่อมต่อยานอื่นไว้มากมาย รวมถึงเตรียมรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสิ่นโจว 8 จึงนับเป็นครั้งแรกของจีนที่จะเชื่อมต่อยานอวกาศที่เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร และจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากสหรัฐและรัสเซียที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร แต่ปรากฏว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2559 สำนักงานอวกาศแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของจีนได้แจ้งไปยังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า จีน “ไม่สามารถ” ควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ ทำให้ไม่มีใครสามารถระบุเวลา และ “จุดตก” ได้อย่างชัดเจน ! ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกต่อทั่วโลก

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้จัดเสวนา “จับตาสถานการณ์เทียนกง 1” ขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561

GISTDA ผนึกสหรัฐเฝ้าระวัง

ดร.สิทธิ พร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของ GISTDA อธิบายว่า GISTDA ในฐานะหน่วยปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ Joint Space Operations Center (JSPOC) ของสหรัฐ รวบรวมข้อมูลเรดาร์ทั่วโลกสำหรับตรวจสอบตำแหน่งดาวเทียม และใช้โปรแกรมคาดการณ์วงโคจรล่วงหน้า ตั้งแต่จีนแจ้งว่า สูญเสียการควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง ความสูงของสถานีอวกาศได้ลดระดับลงมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ในระดับ 280 กม.จากโลก จึงคาดการณ์ว่าจะตกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2561

ขณะ นี้ไม่สามารถบอก “ตำแหน่งการตก” ได้ชัดเจน แต่เบื้องต้นจะตกสู่โลกในช่วงละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้ ซึ่งประเทศที่เสี่ยงมีตั้งแต่สเปน เรื่อยมาถึงออสเตรเลีย รวมถึง “ไทย” ด้วย

การคาดการณ์จะแม่นยำมากที่สุด ต้องรอให้เทียนกงเคลื่อนมาอยู่ใกล้พื้นโลก ประมาณ 1 สัปดาห์ 2-3 วัน และแม่นยำที่สุดในช่วง 3-6 ชั่วโมงก่อนถึงพื้นโลก ซึ่งจะมีการแจ้งอพยพ ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการมอนิเตอร์สามารถอัพเดตข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของจิสด้า หรืออินบอกซ์คำถามมาได้ตลอดเวลา

สำหรับชิ้นส่วนดาวเทียมส่วนใหญ่โดน แรงเสียดสี จะเหลือขนาดเล็กมาก คาดว่าจะตกลงถึงพื้นโลก 10-40% แต่มั่นใจว่าจีนจะไม่แก้ปัญหาด้วยการยิงจรวดใส่เทียนกง เนื่องจากการระเบิดอาจทำให้ชิ้นส่วนกระจายออกไปด้วยความเร็วสูง และไปชนดาวเทียมอื่น ๆ ที่โคจรอยู่ใกล้เคียง อาจกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องระยะยาว ประเด็นนี้เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นหลังจีนเคยยิงจรวดไปเมื่อปี 2007

ความรับผิดชอบทางกฎหมาย

อาจารย์ ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิบายว่า ทั่วโลกมีกฎหมายและสนธิสัญญาเกี่ยวกับอวกาศหลัก ๆ 5 ฉบับ คือ 1) สนธิสัญญาอวกาศ ปี 1967 2) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งกลับวัตถุอวกาศ และนักบินอวกาศ ปี 1968 3) สนธิสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศต่อความเสียหายที่เกิดจากวัตถุ อวกาศ ปี 1972 4) สนธิสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ และ 5) สนธิสัญญาดวงจันทร์ โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจกรรมเกี่ยวกับอวกาศทั้งหมด

ตามหลักกฎหมายด้านอวกาศ โดยเฉพาะอนุสัญญาความรับผิดจากวัตถุอวกาศ ปี 1972 จีนต้องรับผิดชอบ เพราะการทำดาวเทียมส่งขึ้นสู่อวกาศต้องจดทะเบียนกับเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งจีนจดทะเบียนเป็นเจ้าของ และผู้ปล่อยดาวเทียม ซึ่งขณะนี้จีนตั้งรับ “ยอมชดใช้ค่าเสียหาย” ประเด็นต่อมาขึ้นกับ 1) เทียนกงตกในประเทศภาคีสมาชิก “ใน” สนธิสัญญาว่าด้วยความรับผิดจากวัตถุอวกาศ ปี 1972 ด้วยกัน “จีนต้องรับผิดชอบโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์” หรือ 2) ถ้าตกในประเทศ “นอก” สนธิสัญญาว่าด้วยความรับผิดฯปี 1972 ซึ่งหมายถึง “ไทย” ด้วย เพราะไทยเป็นสมาชิกเฉพาะสนธิสัญญาอวกาศ ปี 1967 และสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งกลับวัตถุอวกาศ และนักบินอวกาศ ปี 1968 เท่านั้น หมายถึง “ไทยไม่ได้ประโยชน์ตามสนธิสัญญาว่าด้วยความรับผิดฯ ปี 1972” !

ดังนั้น หากไทยเกิดความเสียหาย ต้องปรับใช้ข้อบทที่ไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกอยู่ใน 2 ฉบับ คือ สนธิสัญญาอวกาศ ปี 1967 ข้อ 3,ข้อ 6 และข้อ 7 ซึ่งระบุว่าอวกาศเป็นเขตแดนเสรี ทุกประเทศสามารถใช้ประโยชน์ได้เสมอภาคกันไม่มีใครเป็นเจ้าของ และหลักว่าด้วยเรื่องความรับผิดของรัฐ เมื่อวัตถุอวกาศที่ทำขึ้นสร้างความเสียหายต่อประเทศอื่น ทั้งยังกลายเป็นขยะอวกาศ ผนวกเข้ากับกฎบัตรสหประชาติ (UN Charter) ข้อ 33 อนุ 1 กำหนดกระบวนการแก้ไขปัญหาไว้ 5 ระดับ คือ เจรจา ไต่สวน ประนีประนอมยอมความ การใช้อนุญาโตตุลาการ และขึ้นสู่ศาลโลก ข้อเสียคือ ใช้เวลาเรียกร้องค่าเสียหายนาน และมีค่าใช้จ่ายตามมา