จับตาเสื้อผ้าไทยแข่งเดือดในเมียนมา รับศึก “เงินจ๊าตแกว่ง”

หลายปีที่ผ่านมาเมียนมากลายเป็นตลาดเปิดใหม่ที่หอมหวานสำหรับนักธุรกิจทั่วโลก ด้วยความที่เป็นประเทศเปิดใหม่ มีจำนวนประชากรจำนวนมาก และมีเงินลงทุนไหลเข้าทำให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวสูง

นายยศธน กิจกุศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แวนสัน (ประเทศไทย) ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ “Vanson” และประธานบริษัท GMP จำกัด ห้างค้าปลีกเมียนมา กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนเมียนมาส่วนใหญ่ซื้อเสื้อในราคา 300-500 บาท ถ้าราคาสูงกว่านั้นซื้อน้อยลง สินค้าที่แวนสันเข้าไปจำหน่ายเป็นพรีเมี่ยมราคาปกติ เช่น ราคาเสื้อ แบรนด์ที่ผลิตในเมียนมาตัวละ 5,000 จ๊าต ประมาณ 100 กว่าบาท แวนสันต้องขายประมาณ 35,000 จ๊าต หรือ 900-1,000 บาท แข่งขันกับแบรนด์ไทยด้วยกันเอง และอินเตอร์แบรนด์

ภาพรวมธุรกิจส่ง ออกเสื้อผ้าในปี 2560 ยังคงรักษาการเติบโตได้ระดับ 0% ในปี 2561 หวังว่าจะดีขึ้นอย่างน้อย 10% เฉพาะในประเทศ หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีปัจจัยลบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญของการส่งออก ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง คิดว่าต้นปีจะแข็งค่าถึง 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เอกชนให้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ให้ดี

ปีที่ผ่านมาตลาดเมียนมาประสบ ปัญหาค่าเงินจ๊าตจากเดิมปี 2559 สินค้าไทย 30 จ๊าต เท่ากับ 1 บาท แต่ขณะนี้ 41 จ๊าตเท่ากับ 1 บาท ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้นแข่งขันลำบาก แต่ถ้าในกรณีที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนผลิตในเมียนมา เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ถือเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะผู้ผลิตไทยที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) จะได้รับประโยชน์มากในเรื่องต้นทุนการผลิต เพราะค่าแรงเมียนมาประมาณคนละ 100 บาทต่อวัน เทียบกับไทย 300 บาทต่อวัน อีกทั้งเมียนมาได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากร (GSP) จากประเทศมหาอำนาจ แต่หากโรงงานใดไม่ใช่ผู้ผลิตที่ส่งออกไปยังประเทศที่มีจีเอสพี จะไม่ได้ประโยชน์จากปัจจัยนี้

“ที่ผ่านมาแวนสันไม่ได้ย้ายฐานการผลิต ไปนอกประเทศ แต่อาศัยการส่งออกไปตลาดหลัก คือ เมียนมา ประมาณ 10-15% แต่มีการหารือกับทางโรงงานเสื้อผ้าที่เมียนมาไว้เช่นกัน เพราะต้องการลดต้นทุน”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว อยากให้รัฐบาลมองปัญหาอย่างจริงจัง การส่งเสริมอย่าเน้นเรื่องปริมาณมาก แต่ควรเน้นเรื่องคุณภาพสมมุติสนับสนุนผู้ประกอบการไปแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ต้องประเมินผลจากตรงนั้น เช่น ควรสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจที่มีความพร้อม ดีกว่าหว่านไปโดยไม่ได้อะไรเลย รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการร่วมงานระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น