เพชรบุรีโมเดล อัพเกรดสาหร่ายน้ำจืด พืชเศรษฐกิจใหม่อาหารแห่งอนาคต

กระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อน “เพชรบุรีโมเดล” คิกออฟโครงการพืชเศรษฐกิจใหม่สาหร่ายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) หวังสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันที่ 14 สิงหาคม 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย กล่าวว่า โครงการพืชเศรษฐกิจใหม่สาหร่าย : อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้เกษตรกร

โดยกรมประมงซึ่งมีภารกิจตามกฎหมายรับผิดชอบสัตว์น้ำและพืชน้ำเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการ ร่วมด้วย นายสมบุญ ธัญญาผล ประมงจังหวัด ว่าที่ร้อยตรีอาณัติ หุ่นหลา เกษตรจังหวัด นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายประพัฒน์ ก่อสวัสดิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี

โดยการเลือกเพชรบุรีเป็นจังหวัดคิกออฟโครงการ เนื่องจากมีพื้นฐานการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในพื้นที่อำเภอบ้านแหลมโดยการสนับสนุนของกรมประมง และเป็นจังหวัดตัวอย่างต้นแบบในยุทธศาสตร์ และแผนกลยุทธ์การพัฒนาสาหร่ายให้เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบภายใต้แนวทาง “เพชรบุรีโมเดล”

ซึ่งจะส่งเสริมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาการผลิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างศักยภาพผู้เพาะเลี้ยงสาหร่าย การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้ประกอบการภาคเอกชน การสร้างแบรนด์และการส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

กรมประมงได้ผนึกความร่วมมือกับภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท และมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล โดยได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ที่แหลมผักเบี้ยดำเนินการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายทะเลหลายสายพันธุ์ เช่น สาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายลิ้นมังกร สาหร่ายผักกาด สาหร่ายโพรง สาหร่ายขนนก และสาหร่ายผมนาง เป็นต้น

จากนั้นจึงเยี่ยมชมกิจการฟาร์มเลี้ยงสาหร่าย เช่น แฟมิลิฟาร์ม เบญจมาศฟาร์ม และฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง   

“เพชรบุรีมีศักยภาพมากสำหรับการพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบการขับเคลื่อนโครงการสาหร่าย อาหารแห่งอนาคต และจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกในปี 2562 ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยมี 22 จังหวัดติดทะเลมหาสมุทรเหมาะกับสาหร่ายทะเล และ 28 จังหวัดบนบกสามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายน้ำจืด”

ทั้งนี้ นโยบายสาหร่ายพืชแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ใหม่ให้เกษตรกรและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก จึงดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายเป็นอาหารแห่งอนาคตตัวใหม่ เนื่องจากมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในอาหาร อาหารเสริม อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เซรั่มชะลอความแก่