“ปลัดจรินทร์” ย้ำเคาะค่าจ้าง 17 ม.ค. หากไร้ข้อขัดแย้ง ด้าน กก.ลูกจ้างเชื่อขึ้นสูงสุด 12 บาท

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เลื่อนพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันที่ 17 มกราคม 2561 หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาไม่ได้ข้อสรุป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งเครือข่ายแรงงานว่า การปรับขึ้นค่าจ้างอาจไม่เป็นธรรมและกังวลว่าจะไม่ได้ขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ รวมทั้งไม่มั่นใจว่าในวันที่ 17 มกราคมนี้จะได้ข้อสรุปจริงหรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม นายประจวบ พิกุล คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 17 มกราคมนี้ ตนเชื่อว่าจะต้องได้ข้อสรุปค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากจริงๆ แล้วไม่ได้มีข้อยืดเยื้ออะไรมาก เหลือเพียงว่าจะมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดปรับค่าจ้างเป็นกี่กลุ่ม ซึ่งเดิมทีในการประชุมมีข้อเสนอถึง 20 กลุ่ม 20 ขั้นบันได ซึ่งมีจำนวนมากเกินไป และในหลายจังหวัดทางอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก อย่างจังหวัดระนองไม่ขอขึ้น ซึ่งเมื่อนำมาเข้าข้อมูลหรือเข้าสูตรคำนวณปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จำเป็นต้องปรับขึ้นทุกจังหวัด ไม่ขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม ซึ่งจริงๆ ควรอยู่ที่ 4 กลุ่มขั้นบันไดก็เพียงพอ โดยแต่ละกลุ่มจะเป็นออกเป็นจังหวัดที่ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเท่าไรก็ต้องมาพิจารณาตามสูตร เช่น ค่าจีดีพีของจังหวัดนั้นๆ และประสิทธิภาพแรงงาน เป็นต้น ซึ่งก็จะแบ่งไม่เท่ากัน

“อย่างหากแบ่งออกเป็น 4 ขั้น เราก็จะทราบว่าจังหวัดไหนควรอยู่ขั้นไหน เช่น ขั้นต่ำสุดกี่บาท ขั้นสูงสุดกี่บาท เดิมทีต่ำสุดมีการพูดกันว่าอยู่ที่ 3 บาทได้หรือไม่ แต่ฝั่งลูกจ้างมองว่าขึ้นค่าจ้างจาก 300 บาทมาเป็นวันละ 303 บาท จะเพียงพอค่าครองชีพกับสอดคล้องกับเศรษฐกิจของจังหวัดจริงหรือไม่ก็ต้องมาคำนวณ ซึ่งตรงนี้ยังไม่ทราบว่า กลุ่มจังหวัดที่ได้ต่ำสุดจะได้เท่าไร แต่สูงสุดนั้นตนมองว่าคงไม่น่าจะเกิน 12 บาท ซึ่งที่เป็นข่าวว่า จะขึ้นเป็น 15 บาทนั้น ไม่น่าจะได้” นายประจวบ กล่าว

นายอรรถยุทธ์ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะกรรมการฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า คงไม่สามารถตอบได้ว่าเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในปี 2561 นั้นจะขึ้นมากสุดหรือน้อยสุดเท่าไร หรือจะแบ่งกลุ่มขึ้นค่าจ้างเป็นกี่กลุ่ม เพราะขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งโดยหลักการแล้วจะพิจารณาจาก 1.ความจำเป็นของลูกจ้างที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ 2.ความสามารถของนายจ้างที่จะจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน และ 3.ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศเป็นอย่างไร และจะพิจารณาแบบรายจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกันไปในเรื่องของเศรษฐกิจ การจ้างงานต่างๆ ดังนั้น แม้จังหวัดใกล้เคียงกันก็อาจขึ้นไม่เท่ากันก็ได้ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกลกัน แต่พิจารณาตามความจำเป็นแล้วอาจขึ้นในตัวเลขเท่ากันก็ได้

“ประเทศไทยมีมากกว่า 70 จังหวัด ก็ต้องมีบ้างที่ตัวเลขขึ้นค่าจ้างอาจขึ้นตรงกันด้วยความบังเอิญ หลังพิจารณาตามความจำเป็นรายจังหวัดแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การขึ้นเท่ากันด้วยการมาจากตั้งใจเคาะให้ได้รับการขึ้นที่เท่ากัน ยืนยันว่าต้องพิจารณาตามเหมาะสมรายจังหวัดว่าจะเป็นเท่าใด ซึ่งก็ต้องติดตามในการประชุมวันที่ 17 มกราคมนี้” นายอรรถยุทธ์กล่าว

ด้าน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อกังวลการประชุมบอร์ดค่าจ้างว่า ในวันที่ 17 มกราคมนี้ อย่างไรก็ต้องพิจารณาและเคาะค่าจ้างขั้นต่ำให้จบให้ได้ เพราะถ้าไม่มีข้อขัดแย้ง หรือปัญหาอะไรก็ต้องจบ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า การประชุมก็มีทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น ก็ต้องให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเอาเกณฑ์แต่ละจังหวัด ซึ่งมีอนุกรรมการค่าจ่างจังหวัดเสนอเข้ามา ก็ต้องพิจารณาว่ามีการทบทวนหรือไม่ และนำข้อเสนอดังกล่าวนำมาคิดคำนวณว่าถูกต้องตามสูตรคำนวณหรือไม่ ประกอบกับต้องพิจารณาบริบทจากส่วนกลางด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่มจาก 20 กลุ่มหรือไม่ นายจรินทร์กล่าวว่า ยังไม่ได้ตั้งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มหรือขั้นบันไดอะไร และไม่มีการเสนอว่าจะแบ่งกลุ่มแบบไหน เพราะสุดท้ายต้องมาพิจารณากันในบอร์ดค่าจ้างวันที่ 17 มกราคมนี้ ดังนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็นกี่กลุ่ม และจังหวัดไหนจะได้ปรับค่าจ้างขึ้นในอัตราเท่าใด

เมื่อถามว่าสามารถบอกได้หรือไม่ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดจะเป็นเท่าไร 15 บาทหรือไม่ หรือต่ำสุดเท่าไร ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ตัวเลขปรับเพิ่ม 15 บาท หรือกี่บาทก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ขอให้รอผลการประชุมก่อนจะดีกว่า

 


ที่มา : มติชนออนไลน์