ชาวไร่-โรงงานน้ำตาลแตกคอ ล้ม พ.ร.บ.ปม “กากอ้อย”

น้ำตาล

การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. … ใช้เวลานานกว่า 4 ปี จากความพยายามของชาวไร่อ้อยที่จะเพิ่มคำนิยามของ “กากอ้อย” เข้าไปเป็นผลพลอยได้ในกฎหมายฉบับนี้

ทั้งที่ 30 ปีก่อนหน้านี้ “กากอ้อย” ถูกจัดว่าเป็นของเสียหรือ “ขยะ” ที่ต้องขออนุญาตในการนำออกจากโรงงาน เพื่อไปเข้ากระบวนการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เกิดการทวงผลตอบแทนจากโรงงานน้ำตาลเพียงเพราะเห็นว่ากากอ้อยที่เคยเป็นขยะในอดีต คือ ของมีค่าในปัจจุบัน จากการลงทุนของโรงงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสินค้าจากขยะสู่ไฟฟ้า ไบโอพลาสติกต่าง ๆ

พร้อมลาออกจากทุกสมาคม

ก่อนหน้านี้ “นายปราโมทย์ วิทยาสุข” ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า การยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ต่อประธานวุฒิสภาครั้งล่าสุดนี้ เพราะ “ไม่ยอมรับ” ที่จะนำกากอ้อยมาตีความว่าเป็นผลพลอยได้ แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กับชาวไร่

เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งในชั้นกรรมาธิการได้ผ่านความเห็นชอบ ผ่านการพิจารณาจาก ส.ส. จนในที่สุดเข้ามาถึง ส.ว. ที่กำลังพิจารณาจนได้

ท้ายที่สุดแล้วหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง แน่นอนว่าโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง ซึ่งปัจจุบันมี 57 โรง จะ “ลาออกจากทุกสมาคม” ซึ่งนั่นหมายถึงระบบการรับซื้อขายน้ำตาลของประเทศไทยจะสั่นคลอนทันที ผลที่จะตามมาคือจะไม่มีความร่วมมือ ไม่มีการกำหนดราคา ไม่มีข้อตกลงใด ๆ อีกต่อไป แล้วผู้ซื้อ (โรงงานน้ำตาล) ผู้ขาย (ชาวไร่อ้อย) จะเดินไปในทิศทางใดคือคำตอบที่ “รัฐต้องรับผิดชอบ”

เหตุร้าวฉานโรงงาน-ชาวไร่

อ้อย คือ พืชเศรษฐกิจที่มีระบบการซื้อขายไม่เหมือนกับพืชชนิดอื่น ซึ่งระบบดังกล่าวนี้มีผู้ร่วมใน “โครงสร้างหลัก 3 ตัวละคร” 1.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม 2.โรงงานน้ำตาล 57 โรง 3.ชาวไร่ผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศ เดิมก่อนที่จะมีกฎหมายอ้อยขึ้นมา 2 ฝ่าย คือ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่ ได้มีการตกลงกันให้เกิดระบบการซื้อขาย มีรูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเบื้องลึกปัญหาโรงงานกับชาวไร่ว่า เปรียบเสมือน “ผัวเมีย” คนในครอบครัวเดียวกัน คุยกันตกลงกันแล้วก็ให้คนนอกอย่าง “สอน.เป็นญาติผู้ใหญ่” ช่วยร่างกฎหมายขึ้นมาให้เป็น พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527

จากนั้นเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปมีหลายสาเหตุที่ต้องปรับแก้ เพราะต้องการที่จะ “หลุดจากข้อครหาของ WTO” ผัวเมียตกลงกันแล้วยื่นเสนอให้รัฐเข้ากระบวนการปรับแก้ตามปกติ แต่อยู่มาวันหนึ่งเมื่อเมียกลับหักหลัง ยื่นเพิ่มเรื่องกากอ้อยเข้าไปโดยไม่ปรึกษาผัว โดยมีญาติผู้ใหญ่เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ใช้วิธีการโหวตเป็นที่น่าเสียใจเมื่อเสียงข้างน้อยกลับชนะในเกมนี้ กากอ้อยถูกดันเข้าไปลึกจนถึงชั้นของ ส.ว.

คำถามคือเหตุใดคนในบ้านถึงไม่คุยกันก่อน และเหตุใด สอน. ในฐานะผู้กำกับดูแลถึงยอมให้เรื่องดังกล่าวไปไกลจนก่อให้เกิดความร้าวฉานกันได้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในเมื่อ “กระทรวงอุตสาหกรรม” เองมีอำนาจในการดึงเรื่องกลับ และให้ทั้ง 2 ฝ่าย โรงงาน-ชาวไร่ ได้ตกลงจนตกผลึกเสียก่อน

จ่อร้องศาลปกครองสูงสุด

แน่นอนว่าแก้วที่ร้าวย่อมพร้อมจะแตก แนวทางที่โรงงานน้ำตาลต้องทำคือการร้องต่อ “ศาลปกครอง” และอาจไปถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้พิจารณาถึงความไม่ชอบธรรม ขณะเดียวกันก็จะกลับไป “ซื้อขายอ้อยกันแบบปกติ ซื้อมาขายไป” จ่ายเงิน จบ เพราะจากการหารือกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่จริง นับ 10,000 ราย ยังคงพอใจกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่กระทรวงอุตสาหกรรมยื่นไปก่อนหน้านี้

และยินยอมที่จะซื้อมาขายไปกับโรงงานน้ำตาลกันแบบปกติ เนื่องจากโรงงานเองก็ต้องดำเนินธุรกิจ ต้องผลิตน้ำตาลป้อนคนทั้งประเทศ ส่วนชาวไร่เองก็ไม่สามารถทิ้งอ้อยได้เมื่อปลูกแล้วก็ต้องขาย

เร็ว ๆ นี้จะมีการคำนวณราคาค่าอ้อยขั้นต้น ก่อนเปิดหีบฤดูกาลปี 2565/2566 ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ ก็ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวกันพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่ากระแสการปรับ ครม. การเลือกตั้งใหม่ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองในด้านอื่น ๆ ย่อมมีผลต่อกฎหมายอ้อยฉบับนี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลยังคงย้ำเสมอว่า “ยอมรับการใช้กฎหมายอ้อย แต่ไม่ยอมรับกฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างโดยคนเพียงกลุ่มเดียว”

ลุ้น ส.ว. เคาะจบภายใน ส.ค.นี้

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า การลงความเห็นของ ส.ว.จะมีเวลาอีกราว 2 สัปดาห์ ในการพิจารณาว่าจะเป็นไปตามที่ ส.ส. ได้ผ่านร่าง นี้มาแล้วหรือไม่ หากเห็นต่างจะต้องนำเรื่องเข้ารัฐสภาเคาะให้จบตามกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ส่งเรื่องเข้าไปเมื่อ 2 เดือนก่อน

ดังนั้นแล้วร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับแก้ไขนี้จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค. 2565 หากไม่ทันร่าง ดังกล่าวจะต้องประกาศใช้โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าตามที่โรงงานน้ำตาลประกาศ จะลาออกจากคณะกรรมการและทุกสมาคมนั้น จะต้องมีผลต่อหลักการบริหารงานเพราะตามกฎหมายมันคือความร่วมมือแบบไตรภาคี


ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีชาวไร่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการนำกากอ้อยเข้ามาในระบบ และมีเพียงบางส่วนที่เห็นด้วย การพิจารณามันอยู่ที่ดุลพินิจ ในเมื่อมันถูกเดินหน้ามาไกลขนาดนี้ อยู่ที่ว่าจากนี้ไปหน้าที่ของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ และจะมีแนวทางบริหารอย่างไรให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ ไม่สะเทือนทั้งระบบ