หอการค้าไทยชี้ค่าบาทแข็ง-ค่าแรงพุ่ง กระทบส่งออกไทยปี’61 โต 6.3% ลุ้นสหรัฐต่อจีเอสพีช่วยส่งออก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2561 ว่าส่งออกปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 252,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.3% ภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอยู่ที่ 3.1% อัตราแลกเปลี่ยนระดับ 31.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และจีดีพีไทยขยายตัว 3.6%

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ภายหลังจากสหรัฐปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี และกรณีสหรัฐได้ปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้นจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) และมั่นใจว่าหากในไตรมาส 1 สหรัฐต่อสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี)ให้กับประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกไทยดีขึ้น นอกจากนี้สถานะความสัมพันธ์ทางการเมืองของสหภาพยุโรปกับไทยดีขึ้น รวมทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (เอฟทีเอ) ล้วนเป็นปัจจัยบวกทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยลบที่กระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 31.1 – 32.2 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยที่ 31.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี หากไทยค่าเงินแข็งค่าเมื่อเทียบกับเพื่อบ้าน ลบ 5.9% จะกระทบส่งออกไทย 5,385 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2.5% ของการส่งออกรวม

ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของค่าแรงซึ่งจะมีผลกระทบทำให้ประเทศไทยมีค่าแรงสูงสุดในอาเซียนเมื่อเทียบกับประเทศภาคการผลิตสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม หากมีการปรับขึ้น 5-12 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีกระทบต่อการแข่งขันเรื่องของต้นทุนที่สูงมาก แต่อย่างไรก็ดี หากมองในมุมที่ตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่ง เห็นด้วยในการขึ้นค่าแรง เนื่องจากค่าครองชีพของไทยสูงมาก แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องการให้ดุปัจจัยอื่นๆประกอบการด้วยโดยเฉพาะการแข่งขัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี การเพิ่มมูลค่าของสินค้าเพื่อการส่งออก

“กรณีที่แย่ที่สุดของส่งออกไทย หากการส่งออกจะขยายตัวที่ 4% มูลค่า 247,163 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้สมมติฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าอาเซียน การส่งออไปจีนลดลง ประเทศนำเข้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ส่วนกรณีที่ดีที่สุด ส่งออกจะขยายตัวที่ 7.9% มูลค่า 256,318 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้สมมติฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.2 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จีนนำเข้าไทยเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของประเทศนำเข้า การส่งออกตลาดใหม่ขยายตัว ส่วนกรณีปกติส่งออกขยายตัว 6.3% จะอยู่ภายใต้สมมติฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.1% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”

นอกจากนี้ยังต้องติดตาม ปัจจัยเสี่ยงทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการเพิ่มมาตรการด้านการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น และการส่งออกสินค้าไทยไปจีน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงต้องดูเรื่องของปัจจัยการส่งออกของจีนไปตลาดสหรัฐด้วย ซึ่งแนวโน้มว่าสหรัฐจะมีมาตรการออกมาสำหรับประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าด้วย

สำหรับการลดภาษี นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคใน 187 รายการของจีน ต้องติดตามว่าสินค้าที่จีนลดภาษีนั้นจะมีผลดีผลเสียต่อประเทศมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าเข้ามาในประเทศอะไรบ้าง รวมไปถึงอาจส่งผลให้ประเทศที่ไม่มี เอฟทีเอ กับจีนจะได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น

นายอัทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ตลาดสำคัญของไทย เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน และตลาด CLMV ซึ่งจะเป็นกลุ่มประเทศสำคัญในระยะ 5 ปีข้างหน้าที่สัดส่วนตลาดการส่งออกที่ไทยส่งออกไปจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งไทยก็ต้องความสำคัญในอนาคต ขณะที่ตลาดจีนก็เป็นตลาดอันดับ 1 ของการส่งออกของไทย

แต่อนาคตประเทศที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยที่ต้องจับตา คือ เวียดนาม ซึ่งมีการส่งออกสินค้าไปจีนมีการเติบโตอย่างมาก