ห่วงภาคเกษตรไทยย่ำแย่! เกษตรเพื่อนบ้านไล่จี้ เร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี-จำกัดแทรกแซงตลาด

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนา “แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย”

โดยดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวทางปรับตัวของเกษตรกรรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า เกษตรกรไทยต้องปรับตัวในเรื่องของมาตรฐานคือ ต้องทำตามมาตรฐานสากลของภาคเอกชนในต่างประเทศ และต้องทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยมีความเชื่อถือในความปลอดภัยของสินค้าไทย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีในการผลิตให้มากขึ้น มีการทำวิจัยลงไปให้ความรู้เพิ่ม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยลดการวิจัยลง แต่เน้นใช้การแก้ปัญหาด้วยการอุดหนุนภาคเกษตรทำให้เกษตรกรไทยไม่ปรับตัวและไม่พัฒนา

ขณะที่ ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การลงทุนของไทยในอาเซียนตอนนี้มีมากขึ้น และที่ผ่านมาการเปิดเสรีอาเซียนไม่ได้ส่งผลมากต่อภาคการเกษตรไทย เพราะหากแยกเป็นเรื่องๆ ทั้งการลดภาษีตามข้อตกลงการค้าอาเซียน (ATIGA) มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และการลงทุนภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีมานาน และมีการปรับตัวไปแล้ว แต่ไม่มีกลไกบังคับให้ทำตาม ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศถูกกำหนดโดยเงื่อนไขสำคัญของแต่ละประเทศ

ที่มา : ทีดีอาร์ไอ

“สิ่งที่ส่งผลคือพลวัตของภาคธุรกิจการเกษตรที่กำลังดำเนินไป เพราะปัจจัยต่างๆ ที่ไทยเคยได้เปรียบนั้น ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตื่นตัวและพัฒนาขึ้นมา ทำให้สินค้าเกษตรไทยในอนาคตจะต้องปรับตัว” ดร.เชษฐากล่าว และว่า ภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพราะความสามารถในการการแข่งขันของภาคเกษตรไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ สาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น แรงงาน ที่ดิน และโลจิสติกส์

ดร.เชษฐา กล่าวต่อว่า ความสามารถในการแข่งขันที่ไทยเคยมี และเคยได้เปรียบนั้นถูกชาติอาเซียนไล่ทัน เพราะชาติคู่แข่งหันมาใช้การค้าเสรี มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการวิจัยมากขึ้น รวมถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติด้วย

สำหรับภาพรวมการปรับตัวของภาคเกษตรกรไทยนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ว่า จะต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ และพัฒนารายสินค้าโดยจะต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกษตรให้แม่นยำและทันเวลา ขณะเดียวกันยังต้องพัฒนาเมืองใหญ่ และเมืองรองเพื่อสร้างงานนอกภาคเกษตร พร้อมกับพัฒนาความรู้ทักษะของแรงงานด้วย อีกทั้งยังต้องจำกัดการแทรกแซงตลาด และจำกัดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรด้วย