เกษตรกรค้านพ.ร.บ.ปาล์ม เดือดรัฐสอดไส้แก้”กองทุน”

ระดมความเห็น – สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดรับความคิดเห็นประกอบการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ระหว่างวันที่ 3-31 มกราคม 2561

สภาเกษตรกร เดือดค้าน 4 ประเด็น ตีกลับ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ฉบับกฤษฎีกา อ้างสอดไส้แก้สาระสำคัญจากร่างเดิมที่ผ่าน ครม. ทั้งปรับการตั้ง กนป.และปรับที่มาเงินกองทุน หวั่นไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาปาล์มทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เปิดรับความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ระหว่างวันที่ 3-31 มกราคม 2561

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ได้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ที่ห้องประชุมปกาสัย ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกษตรกรไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ฉบับของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากสาระสำคัญและหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมที่สภาเกษตรกรฯ ได้ร่วมกันร่างกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายด้าน ซึ่งทำให้ไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม ดังนั้น ที่ประชุมเกษตรกรมีมติไม่รับร่าง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา และขอให้นำร่างเดิมที่ผ่าน ครม. แล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน

โดยประเด็นคัดค้าน ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ผ่านมติ ครม. 2.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา จะทำลายและบั่นทอนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพราะไม่สามารถมีการต่อยอดพัฒนาได้ 3.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา ได้ตัดเงินกองทุนออกจากเดิมที่ทุกภาคส่วนต้องจ่ายเงินกองทุน เหลือเพียงแค่การพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบได้

4.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา จะทำให้คณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (กนป.) มีอำนาจลดลง ไม่นับรวมโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรต้องการเพียงแค่โครงสร้างราคาที่เป็นธรรม มีการต่อยอดได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และต้องการ พ.ร.บ.ที่พัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาไม่ตอบโจทย์นี้

“การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี จากเดิมมาจากการคัดเลือก (โหวต) อาจจะมีผลเชื่อมโยงกับมาตราอื่น ๆ ที่ กนป.จะต้องเป็นผู้กำหนด เช่น มาตรา 29 กำหนดให้ กนป.เป็นผู้ออกประกาศ

หลักเกณฑ์กำหนดบทบาทหน้าที่ และหลักการรับซื้อปาล์มของผู้ประกอบการ หากกรรมการมาจากการแต่งตั้งย่อมจะกำหนดอย่างไรก็ได้ ซึ่งอาจจะขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบ

ประเด็นการแก้ไขเงินกองทุนปาล์มน้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเดิมกำหนดให้ทุกภาคส่วน เช่น โรงสกัด โรงกลั่น ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้เป็นเงินในสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ฉบับใหม่กลับกำหนดให้เหลือเพียงเงินที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีของภาครัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะได้รับเงินสนับสนุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ร่าง พ.ร.บ.ปาล์มใหม่

ร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. … (ฉบับกฤษฎีกาแก้ไข) ได้ลดจำนวนมาตราลดลงเหลือ41 มาตรา และเปลี่ยนชื่อจากร่างเดิม พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ซึ่งมี 58 มาตราสาระสำคัญของร่างฉบับกฤษฎีกา ประกอบด้วย 5 หมวด คือ หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานคนที่ 1 รมว.พาณิชย์เป็นรองประธานคนที่ 2

กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่าง ๆ 5 กระทรวง และเป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างนี้กำหนดให้ รมว.เกษตรฯตั้งกรรมการผู้แทนภาคเอกชน 7 คน ซึ่งตั้งจากผู้แทนเกษตรกร 3 คน, ผู้แทนองค์กรเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน 1 คน ผู้แทนผู้ประกอบกิจการปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน3 คนด้วย ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยมีหน้าที่ด้านต่าง ๆ อาทิ เสนอนโยบายและแผนการบริการจัดการ แนวทางและมาตรการต่าง ๆ รวมถึงแนะนำรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงตลอดจนการบริหารกองทุน เป็นต้น

หมวด 2 กองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้แหล่งเงินจากเงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณประจำปี เงินค่าปรับทางปกครอง และดอกเบี้ย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีเลขาธิการ สศก.เป็นรองประธาน หมวด 3 การส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการประกอบกิจการรับซื้อผลปาล์ม ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่มาตรา 29 หมวดที่ 4 พนักงานเจ้าหน้าที่ และหมวด 5 โทษทางปกครอง เช่น หากฝ่าฝืนมาตรา 29 มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ถึงสูงสุด 1 แสนบาท