เปิด 10 อันดับ บริษัทยักษ์ผลิตแม่พันธุ์-หมูขุนทำราคาดิ่ง

นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ว่า จากราคาหมูที่ลดลง 25% จากราคา 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ลดเหลือ 45 บาท/กก.ในรอบ 6 เดือน ปัจจุบันประเทศไทยบริโภคหมูประมาณวันละ 50,000 ตัว จากราคาที่ลดลงขาดทุนตัวละ 1,500 บาท ส่งผลให้ผู้เลี้ยงขาดทุนวันละ 75 ล้านบาท หรือขาดทุน 13,500 ล้านบาท โดยราคาหมูสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2561 ภาคเหนือราคาเฉลี่ย 54 บาท/กก. ภาคอีสานราคา 45 บาท/กก. ภาคตะวันออกราคา 48 บาท/กก.ภาคตะวันตกราคา 40 บาท/กก. และภาคใต้ราคา 47 บาท/กก. เฉลี่ยหมูในประเทศ 46.80 บาท/กก.

ทั้งนี้ จากราคาสุกรต่ำและผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุนเพราะราคาจำหน่ายต่ำกว่าต้นทุน สมาคมและผู้เลี้ยงต่าง ๆ ขอเงิน 1,190 ล้านบาท เพื่อทำ3 กิจกรรม คือ 1.ตัดวงจรหมูขุนเพื่อทำหมูหัน 1 แสนตัว ขนาดน้ำหนัก8 กก. ชดเชยให้เกษตรกร 400 บาทต่อตัว รวมเป็นเงินงบประมาณ 40ล้านบาท ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ย. 2561 2.ปลดแม่สุกร 10% จำนวน 1 แสนตัว ชดเชยให้เกษตรกร 6,000 บาทต่อตัว รวมเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท และ 3.การนำเนื้อสุกรเก็บเข้าห้องเย็น 1 แสนตัว ราคาตัวละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณ 550 ล้านบาท โดยที่ประชุมให้เกษตรกรไปช่วยเหลือบริหารตัวเองก่อน

“ในที่ประชุม นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานที่ประชุม ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เรียกเอกชนรายใหญ่ อาทิ ซี.พี. เบทาโกร เป็นต้น เข้าหารือเพื่อลดปริมาณการผลิตที่จะออกสู่ตลาด เพื่อให้ราคาหมูปรับตัวดีขึ้น”

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การแก้ไขราคาหมูล้นตลาดเป็นปัญหาสะสมมาจากปี 2560 เนื่องจากภาคเอกชนคาดการณ์ความต้องการของตลาดผิดพลาด จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาหมูตกต่ำ

“วันศุกร์จะเรียกเอกชนรายใหญ่ผู้เลี้ยงหมูในประเทศเข้าหารือ เพื่อลดการผสมแม่พันธุ์ 20% ของจำนวนหมูในฟาร์ม ลดจำนวน 20,000 แม่ภายใน 6 เดือน โดยเป้าหมายลอตแรก 1 แสนตัว และลดไปเรื่อยถึง 2 แสนตัว ส่วนกิจกรรมการนำเนื้อหมูเข้าห้องเย็น เพื่อเป้าหมายการตัดวงจรหมูขุน 1 แสนตัว จะใช้เงิน 100 ล้านบาท จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรกู้เพื่อชำระการนำเนื้อหมูเก็บเข้าห้องเย็น ส่วนมาตรการลดปริมาณหมูจากระบบหากเอกชนให้ความร่วมมือคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนราคาหมูจะดีขึ้น”

นายอภัยกล่าวว่า สำหรับแผนการผลิตหมูปี 2561 คาดจะลดปริมาณการผลิตหมูลง 5% หรือทั้งปีจะมีปริมาณหมู 19.24 ล้านบาท ของปริมาณผลผลิตหมูในปีก่อนที่มีปริมาณหมูรวม 22.106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 สัดส่วน 9.52% การลดปริมาณผลผลิตหมูในปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหมูไม่ให้ตกต่ำ

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาหมูวิกฤตต่อเนื่องมาก ซึ่งตนเห็นควรต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไม่เคยที่จะขอเงินหรือเรียกร้องอะไรรัฐบาลเลย ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงขาดทุนจำนวนมาก จากราคาเดิมที่ขายได้ 60 บาท/กก. ตกต่ำลงมาเหลือ 45 บาท/กก. ก่อนหน้านี้เคยขอกองทุนประมาณ 1,190 ล้านบาทเพื่อมาเยียวยาและแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ได้ เนื่องจากติดขัดขั้นตอนคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คพช.) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต้องปรับระเบียบใหม่ จึงจะได้รับอนุมัติ ทั้งนี้ สมาคมเห็นด้วยกับแนวทางมติพิกบอร์ดที่ให้เอกชนรายใหญ่และผู้เลี้ยงหมูเข้าเพื่อลดการผสมแม่พันธุ์ 20% ของจำนวนหมูในฟาร์ม ลดจำนวน 20,000 แม่ใน 6 เดือน โดยตั้งเป้าลอตแรก1 แสนตัว และลดไปเรื่อยถึง 2 แสนตัว

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตัดวงจรหมูขุน 1 แสนตัว และหยุดการผสมพันธุ์ของแม่พันธุ์ลง 20 เปอร์เซ็นต์ แก้หมูล้น ยังดูเหมือนเป็นภาคทฤษฎี เพราะไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา แต่ทราบมาว่านายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเรียกผู้เลี้ยงรายใหญ่ 8-9 รายหารือแก้ปัญหาหมูล้นตลาด


รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี 10 บริษัทรายใหญ่ที่มีปริมาณแม่หมูจำนวนมาก ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF, เครือเบทาโกร (BTG) บริษัทไทยฟู้ดส์กรุ๊ป, บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด, บริษัท เอสพีเอ็มฟาร์ม จำกัด (SPM), บริษัทวีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด (VPF), บริษัท กาญจนากรุ๊ป(KN), PAKT กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรปากท่อ, บริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท อาร์เอ็มซี ฟาร์ม จำกัด จ.บุรีรัมย์ (RMC)