กัลฟ์ฟันธงวิกฤตพลังงาน 3 ปี บุกลงทุนในลาว-ธุรกิจใหม่

“กัลฟ์” มองข้ามชอตวิกฤตพลังงานโลกอาจลากยาว 2-3 ปี ลุยขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ “โทรคมนาคม-บล็อกเชน-คริปโต” ส่วนธุรกิจดั้งเดิมต้องปรับเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รุกทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว “ปากแบ่ง-ปากลาย” ครึ่งปีหลัง 10 โครงการใหญ่คืบหน้าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ท่าเรือแหลมฉบัง และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

ท่ามกลางกระแสวิกฤตราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น ในครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ยังสามารถสร้างรายได้จากการดำเนินงาน 47,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% ทั้งยังมีกำไรสุทธิ 5,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.2% จากการรับรู้ผลกำไรในโครงการโรงไฟฟ้า GSPC หน่วยที่ 1-3 ที่ทยอยเปิดเดินเครื่อง ตั้งแต่ปี 2564-มี.ค. 2565

และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม INTOUCH และการลงทุนโครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อที่กัลฟ์ไปถือหุ้นร่วมกับ บมจ.ปตท. ในโครงการ PTT NGD และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังจากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อผลักดันเป้าหมายรายได้เติบโต 80% ในปีนี้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ แนวคิดในการทำธุรกิจกัลฟ์ที่นำร่องเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจาก “ถ่านหิน” มาสู่ “พลังงานก๊าซธรรมชาติ” ราวปี 2564-2547 สอดรับเทรนด์โลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ตามเป้าหมายปี 2050 และกำลังรุกเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

วิกฤตโลกยาว 2-3 ปี

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวในระหว่างงาน “Thailand Focus” ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการให้มุมมองเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ (จีโอโพลิติกส์) ปัญหาการขาดแคลนก๊าซจนทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ที่จะสามารถสร้างความสมดุลให้ได้ทั้งดีมานด์และซัพพลาย

ขณะที่กระแสการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เข้ามาเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยปัจจัยต่าง ๆ นี้ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก “ปรับแผนด้านพลังงาน” ด้วยวิธีการใช้ กระจายการผลิตสู่พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ยกตัวอย่าง ฝรั่งเศส มีแผนการผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ แต่โครงการนี้ก็ถูกต่อต้าน เรื่องนี้ก็ต้องรอดูสถานการณ์ แนวโน้มความต้องการด้านพลังงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศทั้ง สปป.ลาว-เมียนมา มุ่งสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องความเสถียรในการผลิตที่ต้องแก้ไขด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติไปช่วย ในส่วนของไทยก็ต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ตามแผนที่วางเอาไว้

สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี

ขยายไลน์ธุรกิจใหม่-ไฟฟ้าพลังน้ำ

ในส่วนของธุรกิจของกัลฟ์ นายสารัชถ์กล่าวว่า ได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมร่วมกับ INTOUCH และการเข้าไปลงทุนในธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ ไบแนนซ์ (บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตให้การซื้อขายและใบอนุญาตอื่น ๆ กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ยังได้ลงทุนใน “กองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล” และได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีบล็อกเชนในด้านสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

เคลื่อนธุรกิจพลังงานนั้น ทางกัลฟ์มุ่งปรับพอร์ตมุ่งสู่การเพิ่มสัดส่วนการผลิต “พลังงานหมุนเวียน (renewable)” มากขึ้น โดยเฉพาะจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ โดยมองว่าประเทศไทยควรมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำมากขึ้นจากเดิมที่มีพลังงานโซลาร์และพลังงานลมเป็นหลัก

“กัลฟ์ได้ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด เป้าหมายเพื่อส่งขายไฟฟ้ากลับมาให้กับประเทศไทย เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อประเทศในอนาคต เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำต่ำเพียง 2 บาท ซึ่งจะมาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศลงไปได้มาก ทั้งยังมีสัญญาระยะยาว 30ปี” นายสารัชถ์

ทั้งนี้ กัลฟ์ได้แจ้งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯไปก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน Pak Beng ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ระหว่างบริษัทกับ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

โดยโครงการนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run of the River) ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว มีกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ (MW) และมีกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 ม.ค. 2576 โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ ราคาเฉลี่ย 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งโครงการนี้นับเป็นโครงการที่ 2 ที่บริษัทได้ไปลงนาม Tariff MOU ต่อจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Pak Lay ที่ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565

ชะลอแผนนำเข้าก๊าซ LNG

นายสารัชถ์กล่าวถึงประเด็นการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่ปรับสูงขึ้นว่า เป็นผลจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ภาครัฐจึงต้องมุ่งหาเชื้อเพลิงอื่น ๆ มาทดแทน และส่วนหนึ่งได้มีการปรับแนวทางโดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติในบางช่วงเวลา เพื่อลดต้นทุนและการยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในขณะนี้จะยังคงทรงตัวสูง จากการขาดแคลนซัพพลายก๊าซหลังจากเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะตลาดเป็นของผู้ขาย จึง “ไม่เหมาะสมที่จะซื้อตอนนี้”

“เรื่องราคาก๊าซที่ปรับสูงขึ้นนั้น กัลฟ์ได้ปรับแผนเรื่องการนำเข้าก๊าซ LNG ตามที่เคยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนหน้านี้ ปริมาณ 6 ล้านตันต่อปี แต่ด้วยตลาดขณะนี้เป็นตลาดของผู้ขาย จึงไม่เหมาะสมที่จะนำเข้าก็ต้องชะลอไปก่อนเพื่อดูถึงความเหมาะสม” นายสารัชถ์กล่าว

ลุยอีก 10 โปรเจ็กต์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กัลฟ์ได้รายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1) โครงการ Gulf SRC (ประเทศไทย) ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิต 2,650 MW หน่วยที่ 4 โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้ว 99.9% จะเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2565 นี้

2) โครงการ Gulf PD (ประเทศไทย) ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 2,650 MW อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 4 หน่วย หน่วยที่ 1 คืบหน้าไปแล้ว 90.9% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 2566 จากนั้นจะทยอยเริ่มหน่วยที่ 2 ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 หน่วยที่ 3 ในวันที่ 31 มี.ค. 2567 และหน่วยที่ 4 วันที่ 1 ต.ค. 2567

3) โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (ประเทศไทย) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ มีกำลังการผลิต 1,540 MW แบ่งเป็น 2 หน่วย โดยหน่วยที่ 1 จะเริ่มเปิดดำเนินการ 1 มีนาคม 2567 และหน่วยที่ 2 จะเปิดดำเนินการในเดือน ม.ค. 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

4) โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ มีกำลังการผลิต 600 MW ได้ผ่านการอนุมัติ EIA แล้ว จะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2570

5) โครงการ DIPWP ประเทศโอมาน ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ มีกำลังการผลิต 326 MW ได้เปิดดำเนินการระยะที่ 1 ไปแล้วเมื่อปี 2564 ด้วยกำลังการผลิต 52 MW โดยส่วนที่เหลือก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 96.2% จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปีนี้ ไปจนถึงปี 2566

และ 6) โรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ประเทศเวียดนาม ขนาด 128 MW คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ กัลฟ์ ยังมีการร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับ GUNKUL เมื่อเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาโอกาสในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดย Gulf Renewable Energy ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท Gulf Gunkul Corporation ในสัดส่วน 50% ในโครงการพลังงานลม 3 บริษัท ที่ จ.นครราชสีมา

รวมกำลังการผลิต 170 MW เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2559 และ 2561 มีสัญญาขายไฟให้กับ กฟผ.เป็นเวลา 25 ปี และให้บริษัท กัลฟ์ 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยร่วมทุนกับ SCG Cleanergy ตั้งบริษัท เอสจี โซล่าร์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 50% และร่วมทุนกับ CRC TWD ตั้งบริษัท กรีนเจ็น เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป

พร้อมกันนี้ กัลฟ์ ยังได้มีการเข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า (GPC) เข้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม MTP3 ซึ่งจะมีการดำเนินการงานขุดลอกและถมทะเล จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564-2567 และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2567-2569

2) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นท่าเทียบเรือบรรทุกสินค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยท่าเรือ F1 จะเสร็จปี 2568 และ F2 จะเสร็จปี 2572 และ 3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M6 และ M81) ซึ่งเป็นการออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินงานและบำรุงรักษาด่านเก็บค่าผ่านทางระบบบริหารจัดการจราจร และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างไปแล้ว 4-6% คาดว่าจะเสร็จในปี 2567 และในโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 240 MW และระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ 36,000 ตันความเย็น โดยระยะที่ 1 (ไฟฟ้า) เริ่มปี 2565 ระยะที่ 1-4 (ไฟฟ้า-น้ำเย็น) เริ่มปี 2566-2569