จ่อผุดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ S-Curve11 ผลิตยุทโธปกรณ์เองลดนำเข้า

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 18 แห่ง ภายในเดือนก.พ. 2561 เงินลงทุนประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย จ.ระยอง 5 แห่ง จ.ชลบุรี 12 แห่ง และจ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง จากเดิมที่มีการกำหนดไปแล้ว 2 นิคม

นอกจากนี้ เห็นชอบการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นเขตส่งเสริมแห่งที่ 19 ทำให้พื้นที่อีอีซีมีเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง รวมพื้นที่ 86,775 ไร่ รองรับการลงทุน 28,666 ไร่ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี (กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 ก.พ.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ในที่ประชุมได้เสนอให้เพิ่มการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตัวที่ 11 หรือเอส-เคิร์ฟ 11 (S-Curve 11) ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นมีประเทศจีน สหรัฐ และญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน ยกระดับศักยภาพการซ่อมแซมและอาจสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

“หากกรอบการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (เอส-เคิร์ฟ 11) ได้รับความเห็นชอบ คาดการจัดทำแผนจะแล้วเสร็จกลางปี 2561 แบ่งเป็นกระทรวงกลาโหมลงทุนด้านการผลิตยุทโธปกรณ์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการทหารและพาณิชย์ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย”

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กรศ.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซีในการพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตั้งเป้าให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางและเมืองการบินของภูมิภาค และให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูเศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอนุภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ 168 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 988,948.10 ล้านบาท

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่อีอีซีจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือปีละ 200,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้กว่า 2.1-3 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง”นายชัยวัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน กรศ.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี เน้นพื้นที่พัทยา-สัตหีบ-ระยอง เป็นแกนการพัฒนาการท่องเที่ยว มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่กับการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวิถีชีวิตชุมชน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 29.89 ล้านคนในปี 2560 เป็น 46.72 ล้านคน ในปี 2564 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า จาก 285,572 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 508,590 ล้านบาท ในปี 2564

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์