ทัพนวัตกรรมแน่น “งานยางพาราบึงกาฬ” เกษตรกร-ภาคธุรกิจ หนุนแปรรูป ชี้เดินมาถูกทาง

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 18 มกราคม 2561 ที่ จ.บึงกาฬ มีการจัดงานวันยางพาราและงานกาชาดประจำปี 2561 โดยความร่วมมือของจังหวัดบึงกาฬ รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐเอกชนระหว่างวันที่ 17 – 23 มกราคม 2561 เพื่อเป็นการส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้มีการพัฒนาการปลูกยางพาราให้มีมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงเป็นเวทีในการหารือ แก้ไขปัญหาและเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ค้าตลาดยางพารา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้พบปะกับเกษตรกรโดยตรง ที่จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง เนื่องจากปัจจุบันอาชีพปลูกยางพารา ถือเป็นอาชีพสำคัญของชาวอีสาน โดยในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 8 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกยางพารามากสุดอยู่ที่ จ.บึงกาฬ เป็นที่มาของการจัดงานวันยางพาราอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 6 โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนชาวบึงกาฬและจังหวัดอื่นๆ ตลอดจนผู้ร่วมงานจากต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายหยวน จงเสวีย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางและพัฒนาเทคโนโลยี ยางรถยนต์แห่งประเทศจีน/ประธานกรรมการใหญ่บริษัท Mesnac กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดินทางมาถึงจังหวัดบึงกาฬหลายวันแล้ว และได้เข้าเยี่ยมชาวสวนยาง รู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากราคายางที่ไม่มีเสถียรภาพค่อนข้างหนัก จากประสบการณ์การที่ราคายางไม่มีเสถียรภาพมีสาเหตุมาจาก 2 ข้อ คือ 1.มาจากเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ 2.จากความผันผวนของตลาดหุ้น ส่งผลกระทบต่อราคายางพารา เช่น ในตลาดหลักทรัพย์ของจีนจะมีแหล่งทุนมาปั่นราคาสินค้าต่างๆ ทำให้สินค้าเสียดุลเเละทำให้ผู้ผลิตเเละผู้บริโภคได้รับผลกระทบสูง

“ผมรู้สึกยินดีที่ประธานาธิบดีจากประเทศจีน จะช่วยเเก้ปัญหาและปรับกติกาในตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลนี้จะส่งผลดีต่อราคายางพาราของประเทศไทยเเละอาเซียนให้ดีขึ้นเเน่นอน”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางฯกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องปัญหาราคายางตกต่ำ เกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.การผลิตที่มากเกินไป ทำให้ยางพาราล้นตลาด 2.มียางสังเคราะห์หรือยางเทียมจากน้ำมันดิบทดเเทนยางจากธรรมชาติ ทำให้ราคายางพาราตกลงด้วย 3.รถยนต์ชนิดใหม่ที่ใช้ไฟฟ้า เข้ามาลดความต้องการใช้น้ำมันดิบ ทำให้ราคาน้ำมันดิบตกลง ส่งผลให้ราคายางธรรมชาติตกลงด้วย เเต่ขอยืนยันว่ายางเทียมมาทดเเทนยางธรรมชาติไม่ได้แน่นอน เเละอนาคตความต้องการใช้รถยนต์ยังจะเพิ่มมากขึ้นอีก

นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังเป็นเมืองที่มียางพาราต้นแรก เมื่อประมาณ 120 ปีผ่านมาแล้ว โดยผู้ที่นำยางพาราต้นแรกมาปลูกคืออดีตผู้ว่าฯตรัง ซึ่งมีครอบครัวอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ประกอบกับเห็นว่าพื้นที่ในจังหวัดตรังส่วนมากปลูกมะพร้าว และมีรายได้ไม่แน่นอน จึงเห็นควรว่าควรนำพืชพันธุ์แบบใหม่มาทดลองปลูก ซึ่งในขณะนั้นท่านได้เห็นสวนยางพาราที่ประเทศมาเลเซีย ให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ และคิดว่าเหมาะกับภูมิประเทศทางภาคใต้ แต่ติดว่าเขาไม่ให้นำเมล็ดยางพาราออกนอกประเทศ จึงให้คนหาเมล็ดยางพาราชุบน้ำและนำใส่กล่องขนมปังแคร็กเกอร์ กลับสู่เมืองตรัง และให้นายอำเภอ นำไปให้ชาวบ้านปลูก แต่ไม่ได้บอกถึงวิธีการปลูกที่ถูกต้อง ชาวบ้านบางส่วนจึงนำหนังสติ๊กยิงเมล็ดยางพาราออกไปแล้วปล่อยให้งอกขึ้นเอง และเมล็ดยางส่วนหนึ่งถูกชาวบ้านเอาไปคั่ว และบอกว่าไม่อร่อย อดีตผู้ว่าฯตรังจึงสอนชาวบ้านถึงวิธีปลูกที่ถูกต้อง เมื่อปลูกได้ ชาวบ้านก็มีรายได้อยู่ในขั้นดี หนึ่งกิโลกรัมขายได้ราคาถึงเกือบ 300 บาท

“ในขณะที่ปัจจุบัน ราคายางพาราก็อย่างที่เห็น จึงคิดว่าต้องนำยางที่ได้ไปทำอะไรสักอย่าง ประกอบกับในการประชุม อบจ.ภาคใต้ครั้งหนึ่ง มี อ.นพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิจัยยาง เป็นวิทยากร และผมมีโอกาสได้ฟัง จึงเรียนถามไปว่าขอนำเครื่องผสมยางมาที่จังหวัดตรังได้ไหม จากนั้นจึงนำมาทดลอง และนำน้ำยาข้นมาผสมกับยางมะตอยตามสูตรของ อ.นพรัตน์ ตลอดจนนำไปลาดยาง และทำถนนสายแรก ปรากฏว่าชาวบ้านที่เดินทางผ่านสายนั้นติดใจ เพราะได้ผลที่ดี จึงใช้แทนยางมะตอย กระทั่งในปี พ.ศ.2558-2560 ผมสามารถก่อสร้างถนนผสมยางพาราได้จำนวน 120 กว่ากิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความยินดีและให้กำลังใจ ผู้จัดงาน ว่าท่านส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางพาราเป็นเรื่องที่ดี และมาถูกทางแล้ว” นายกิจกล่าวทิ้งท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศงานเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า มีประชาชน เด็กนักเรียน ตลอดจนเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ เเละจังหวัดข้างเคียงมาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งภายในงานได้มีการจัดซุ้มแสดงนิทรรศการส่งเสริมอาชีพการทำสวนยางพารามากกว่า 13 โซน พร้อมมีการจัดแสดงนวัตกรรมใหม่ อาทิ การดูแลปลูกยางพารา ที่เป็นการลดต้นทุนจากนวัตกรรมรูปแบบใหม่ การสาธิตการกรีดยางที่มีคุณภาพ รวมถึงการแปรรูปยางพาราในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ในประเทศ ที่จะส่งผลดีต่อราคายางพารา เป็นที่ต้องการของตลาด แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งสร้างความสนใจให้กับพี่น้องเกษตรกร มาเที่ยวชม เป็นอย่างมาก

นายไพบูลย์ ไกรรัตน์ อายุ 53 ปี เกษตรกรชาวบ้านศรีวิไล จ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาร่วมงานวันยางพารา ประทับใจมาก ได้เยี่ยมชม ศึกษา อาชีพปลูกยาง ทั้งหลักวิชาการใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ที่จะช่วยในการลดต้นทุนการผลิต ถือว่าเป็นงานที่ดี อยากให้จัดทุกปี เพราะเกษตรกรได้ประโยชน์ ตอนนี้ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องราคายาง แต่หากมีวิธีช่วยลดต้นทุนการใช้นวัตกรรมใหม่มาช่วย จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้
ผู้สื่อข่าว สำหรับกิจกรรมภายในงานนอกจากนิทรรศการยังมีกิจกรรมและความบันเทิงอีกมากมาย อาทิ คอนเสิร์ต “แจ๊ส สปุ๊กนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก” พร้อมด้วยกิจกรรมความรู้บนเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน มีการจัดเสวนา “โอกาสทองคนบึงกาฬ ปลูกสับปะรด แบบไหนได้ราคาดี “ โดย คุณมนตรี กล้าขาย อ.เมือง จ.ระยอง เสวนาพืชทางเลือก “หม่อนกินผลสด” พันธุ์เชียงใหม่ 60 ปลูกง่ายให้ผลดก โดย นันทวัน โตอินทร์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เสวนานา

ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน มีการนำเสนอ “นวัตกรรม ‘ถนนเรืองแสงจากยางพารา’ ครั้งแรกของประเทศไทย” โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำโดย ผศ.ดร.กัมปนาท ศิริเวทิน อาจารย์จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติฯ มจพ., นายฐิตินันท์ อึ้งตระกูล วิศวกร และนายกษิดิศ วรวณิชชา นักศึกษาปริญญาโท หนึ่งในทีมงานวิจัยนวัตกรรมยางพาราฯ
นายกษิดิศ กล่าวว่า การสร้างถนนเรืองแสงมาจากปัญหาระบบส่องสว่างชำรุดเสียหาย อันเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีแนวทางแก้ไขคือการใช้สีสะท้อนแสง แต่การทำงานของสีสะท้อนแสงคือต้องมีรถแล่นผ่าน หรือมีแสงจากหลอดไฟส่องมาจึงสามารถเห็นแสงได้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้เลือกใช้ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในไทย อีกทั้งสามารถปลูกได้ทุกภาคในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดบึงกาฬ

“เราเลือกใช้สารฟอสฟอเรสเซนต์ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์หลักในงานวิจัยนี้คือการนำยางพารามาใช้ทำเป็นผิวทางเรืองแสงในเวลากลางคืน เป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น เบื้องต้น เราจะนำยางมาผสมสารเคมีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้เหมาะสมในการทำผิวทาง จากนั้นนำยางที่ผสมสารเคมีมาเตรียมเป็นของเหลวด้วยตัวทำละลายชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายสี สียางนี้เราสามารถใช้แปรงทา หรือหล่อเป็นเส้นก็ได้ และถนนเรืองแสงนี้ใช้ทำเป็นเส้นบนลานจอดรถ พื้นทางเดินบนสวนสาธารณะ เลนลู่วิ่งจักรยาน หรือทำเป็นสัญลักษณ์บนถนนตามจุดเสี่ยงต่างๆ ได้เช่นกัน” นายกษิดิศกล่าว

นายกษิดิศกล่าวต่อวา ข้อดีคือ 1.ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่บนท้องถนน 2.เป็นยางพารา 100 เปอร์เซ็น 3.ถือเป็นถนนประหยัดพลังงานอย่างหนึ่ง ทั้งยังสามารถใช้เป็นถนนตกแต่ง ทำเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ส่วนต้นทุนการผลิตนั้น หากเทียบตามตารางเมตร สีสะท้อนแสงมีราคา 500-800 บาท แต่สีเรืองแสงจากยางพาราจะมีราคาแพงกว่าคือ 850-1,000 บาท แต่เงินที่เราเพิ่มขึ้นนั้น ควรมองว่าสีสะท้อนแสงโดยปกติต้องให้แสงส่องมาถึงจะมองเห็น ถ้าไม่มีแสงใดๆ เราจะมองไม่เห็นเลย แต่สีเรืองแสงจากยางพาราสามารถดูดซับพลังงานจากภายนอกได้ ทั้งแสงดวงอาทิตย์ รถยนต์ หลอดไฟ หรือดวงจันทร์ ในการกระตุ้นให้มองเห็นได้ ตลอดจนภายในงานวันยาพาราฯนี้ ทาง มจพ.ได้นำโมเดลถนนเรืองแสงมาจัดแสงด้วย

นายฐิตินันท์ อึ้งตระกูล วิศวกรจาก มจพ. กล่าวว่า ในนวัตกรรมที่ 2 ของ อ.ระพีพรรณ แดงตันกี คือ สารจับยาง IR ที่สามารถแยกเนื้อยางพาราออกจากน้ำยางที่มีความเข้มข้นต่ำที่ 3% – 10% ได้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำยางพาราที่โดนน้ำฝน ซึ่งปกติแล้วชาวบ้านจะเททิ้ง ไม่สามารถดึงเนื้อยางออกมาได้หรือ น้ำล้างจากบ่อหรือถังเก็บยางพารา หลังจากนำตัวน้ำยางไปขายที่สหกรณ์ จะทำการล้างถัง ซึ่งในขณะที่ล้างถังจะมีน้ำยางพาราปนออกมาด้วยสารตัวนี้จะช่วยดึงเอาเนื้อยางพาราออกจากน้ำ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำทิ้งเหล่านั้นได้
นอกจากนี้ เวลาน้ำยางปนเปื้อนน้ำฝนหรือ น้ำทิ้งที่ปนเปื้อนยางพารา ชาวบ้านมักจะเททิ้งตามร่องน้ำสวน และเกิดการหมักหมม เป็นแบคทีเรียและส่งกลิ่นเหม็นในที่สุด แต่สารจับยาง IR ที่ช่วยดึงเอาเนื้อยางออกจากน้ำทิ้ง จะทำให้น้ำทิ้งใสขึ้น และลดกลิ่นเหม็นลงได้ จุดสำคัญคือใช้งานง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ดังที่สหกรณ์ทำยางแผ่นรมควัน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้นำไปปรับใช้แล้ว เนื่องจากทุกเย็นจะมีการล้างบ่อยาง และใช้สารจับยาง IR ดึงเอาเนื้อยางออกมาขายเป็นขี้ยาง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราและ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรสวนยาง

นายฐิตินันท์กล่าวต่อว่า สำหรับนวัตกรรมชิ้นที่ 3 คือ หมอนยางพาราปลอดเชื้อ ที่ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานหมอนยางพาราไทย ยกตัวอย่างเช่น เวลาซื้อหมอนยางพารามาเก็บไว้นานๆ จะมีกลิ่นที่เกิดจากจุลินทรีย์ที่ย่อยสลาย แต่ในหมอนยางพาราปลอดเชื้อมีการเติมสาร ‘ซิลเวอร์นาโน’ จะช่วยไม่ให้เกิดการย่อยสลาย และไม่ทำลายคุณสมบัติอื่นๆ ของหมอนยางพารา

ด้าน ผศ.ดร.กัมปนาท ศิริเวทิน อาจารย์จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติฯ มจพ. กล่าวว่า ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิใจที่จะนำเสนอนวัตกรรมแก่พี่น้องชาวบึงกาฬ เนื่องจากมีการตกลงทางด้านความร่วมมือกับจังหวัดบึงกาฬ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมยางฯที่คิดค้นมา ก็จะนำมาเสนอให้ชาวบึงกาฬเป็นที่แรก
ทั้งนี้มีการสร้างต้นแบบถนนเรืองแสงที่เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบและเป็นทางการแห่งแรกคือที่จังหวัดบึงกาฬ และในส่วนของการเสนอ ‘นวัตกรรมยางพาราใช้งานได้จริง’ นั้น ทาง มจพ.มีการผลิตคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของพี่น้องเกษตรกร และในปีหน้า คาดหวังไว้ว่าจะได้นำเอานวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอแก่พี่น้องชาวบึงกาฬอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตลอดการนำเสนอมีเกษตรกรชาวสวนยางมาร่วมฟังการเสวนาจนเต็มทุกที่นั่ง และในขณะดำเนินการเสวนา มีการสาธิตการใช้สารจับยาง IR อย่างง่ายๆ เพื่อสร้างความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเห็นผลได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ภายหลังจบการเสวนามีผู้เข้าร่วมเสวนาให้ความสนใจสอบถามข้อสงสัยเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ที่บูธของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีการจัดแสดงผลงานการคิดค้นนวัตกรรมใหม่จากการแปรรูปยางพาราคือ การทำถนนจากยางพารา ซึ่งได้มีการทดลองนำยางพาราดิบ ไปเป็นส่วนผสมกับปูนซีเมนต์ เพื่อทำการก่อสร้างถนน ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ และคงทน โดยในระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้ยางพาราประมาณ 200 ตัน ที่จะเป็นการนำยางพาราแปรรูปใช้ในประเทศอีกรูปแบบ และการันตีว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งผลดีต่อเกษตรกรในอนาคต สามารถนำยางพาราใช้ในประเทศได้มากขึ้น

ต่อมาเวลา 16.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าบรรยากาศของการแข่งขันลับมีดกรีดยางพารา ได้รับความสนใจจากเกษตรกรชาวสวนยางพาราและเจ้าของสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬทั้ง 8 อำเภอมาสมัครเข้าแข่งขันในวันนี้กว่า 40 คนโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันพร้อมกำหนดคุณสมบัติ เงื่อนไข ว่าต้องเป็นเกษตรกรที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดบึงกาฬ หรือเป็นเกษตรกรที่มารับจ้างกรีดยางในจังหวัดบึงกาฬและต้องมีใบรับรองจากเจ้าของสวนยาง และเกษตรกรที่เข้าแข่งขันรับมีดกรีดยางพร้อมหินหยาบและหินละเอียดมาเอง

โดยกรรมการตัดสินผลการแข่งขันในวันเดียวกันใช้หลักเกณฑ์การตัดสิน 1.การลับมีดกรีดยางอย่างถูกวิธี มี 8 ขั้นตอน 2.ความบางของมีดและลักษณะเดือยมีดโค้งมน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อยู่ในรูปทรงสวยงาม 3.ความคมของมีดเมื่อกรรมการทดสอบกับต้นยางจริง ผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสด 2,500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินสด 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินสด 1,500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร รางวัลชมเชย 2 รางวัล เงินสดรางวัลละ 500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

สำหรับผลการแข่งขันการลับมีดกรีดยางพาราในวันนี้เกษตรกรที่ได้คะแนนสูงสุดคือนายสมคิด ศรีเมือง อ.บึงโขงหลง รองอันดับ 1 คือนายสมร ศรีดี อ.ปากคาด ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์กรีดยางระดับประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนรองอันดับ 2 ได้แก่นายพิชัยศักดิ์ ศรีบุญทา อ.ปากคาด ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่นายอดิศักดิ์ ตุ๋ยศักดา และนายบุญสิงห์ สิงหาพันธุ์