เปิดวงเศรษฐศาสตร์ เเนะปรับmindset ล้มเเล้วลุก สร้างคนยุคใหม่ “ดาต้า”คือขุมทรัพย์ หนุนไทยเปิดเสรีข้อมูล

18 ม.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีการร่วมพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในโลกสมัยใหม่ 

@ปรับ mindset ล้มเเล้วลุก “ดาต้า” เป็นเสมือนน้ำมันยุคใหม่

โดยดร.สันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย ธนาคารเครดิตสวิส  กล่าวถึงโมเดลการ Re-design Thailand ท่ามกลางกระเเสการเปลี่ยนเเปลงของโลกว่า โลกาภิวัฒน์กำลังเปลี่นโฉม การค้าเริ่มเเผ่วลง ซัพพลายเชนสั้นลง ทำให้เกิดการเเข่งขันเเย่งส่วนเเบ่งการตลาดเข้มข้นขึ้น 

ในภาคการเงิน ถือว่าเป็นส่วนที่มีการ disruption เยอะ ทั้งการมาของปัญญาประดิษฐ์ กฎระเบียบการเงินดิจิทัล ความท้าทายคือคำถามที่ว่าโลกวันพรุ่งนี้จะเปลี่ยนเเปลงไปอย่างไร ขณะที่ยุทธศาสตร์ของนานาประเทศ กำลังออกมาในรูปแบบคล้ายคลึงกัน มีการปกป้องตนเอง การปรับระบบภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เเละการรุกคืบเป็นผู้นำโลกของจีน 

ดร. สันติธาร กล่าวว่า อนาคตถ้าอยากชนะเทคโนโลยี ไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม เเต่ต้องจ้างคนให้น้อย สิ่งที่น่าเป็นห่วงของไทยคืออาชีพที่จะโดนทดเเทนในอนาคต มีอัตราสูงถึง 50% คนส่วนน้อยจะได้ประโยชน์ คนส่วนใหญ่จะถูกทิ้ง เป็นผลกระทบความเหลื่อมล้ำตามกระเเสโลก

ขณะที่เมื่อขั้วอำนาจโลกเปลี่ยน จีนจะไม่เหมือนฝั่งตะวันตก เช่น ด้านอี-คอมเมิร์ซที่เข้ามารุกตลาดอาเซียน โดยตอนนี้ก็เข้ามาในไทยเเล้วอย่างน้อย 3-4 เจ้า ซึ่งการค้าออนไลน์ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่มีข้อดีว่าผู้ประกอบการรายเล็ก เอสเอ็มอีมีช่องทางเข้าสู่ระดับตลาดโลกได้ เเต่ก็มีด้านมืดคือเอสเอ็มอีจะถูกตีตลาดโดยยักษ์อี-คอมเมิร์ซ 

สิ่งที่น่าจับตามองอีกมิติ คือเมื่อ “ดาต้าเป็นเสมือนน้ำมันยุคใหม่”  เมื่อก่อนเราเเย่งกันเอาน้ำมัน เเต่ทุกวันนี้คือ เเย่งชิงฐานข้อมูล เช่นการซื้อบริษัทเพื่อเอาฐานข้อมูลลูกค้า ในอนาคตต้องตั้งคำถามว่า เเล้วใครจะเป็นเจ้าของดาต้า ถ้าบริษัทผู้ครอบครองมีอำนาจสูง ผู้บริโภคจะเหลืออะไรไปต่อรองได้หรือไม่ 

ดร.สันติธาร เสนอว่า ต่อไปจะเกิดอาชีพมากมายที่เราไม่สามารถรู้ได้ จำเป็นต้องมีการให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง mindset ให้เด็กรุ่นใหม่เเละควรจะต้องทำตั้งเเต่ระดับปฐมวัย เปลี่ยนตามโลกให้ทัน ขณะเดียวกันต้องมี mindset เเบบ “ล้มเเล้วลุก” ให้คิดว่าการเเข่งขันในโลกอนาคตเราสามารก้าวกระโดดในการเเข่งขันจาก 1 ไป 4 ได้ ปรับตัวได้เร็ว ตั้งเเต่ระดับบุคคลยันรัฐบาลที่ต้องปรับนโยบายให้ “กล้า” เข้าสู่โลกดิจิทัล เเละเปิดข้อมูลให้สังคม รัฐ เอกชน ประชาชนเข้าถึงได้ พร้อมมีนโยบายที่รับฟังผู้เห็นต่าง 

นอกจากนี้ ยังมองว่าโอกาสพิเศษของไทยคือการมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 30ล้านคน หากสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกเขาได้ เเล้วนำมาประยุกต์กับยุทธศาสตร์ชาติ จะถือเป็นโอกาสทองที่เราต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาขุดตรงนี้ให้ได้ 

ด้านศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 ที่ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันด้วย internet of things หากความสามารถเรายังไม่พอก็จะเป็นการเสียโอกาสมีส่วนร่วมธุรกิจในอนาคต โดยสิ่งที่รัฐสนับสนุนตอนนี้คือการสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการรายย่อย ให้เอสเอ็มอีใช้ระบบดิจิทัลเป็น 

ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยว่า “ทรัพยากรบุคคล” เป็นสิ่งสำคัญ mindset ต้องเปลี่ยนตามโลกที่ไร้พรมเเดน เด็กรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย พวกเขาจะไม่ทำงานอย่างเดียว เเต่จะทำอย่างอื่นร่วมไปด้วย เช่น ขายของออนไลน์ เล่นหุ้น รับงานออนไลน์ พร้อมกับทำงานประจำ นี่คือลักษณะของคนในอนาคต เป็นกิ๊กอีโคโนมี 

“ตอนนี้คุณอาจเป็นเเรงงานมีทักษะ เเต่ต่อไปอีกห้าปี อาจเป็นเเรงงานไร้ทักษะก็ได้ ดังนั้นคนต้องมีองค์ความรู้ที่ดีขึ้น เเละมีทัศนคติเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ระบบดาต้าประเทศไทยห่วยมาก รัฐต้องเริ่มเเก้ต้องนี้ ให้รัฐเเละเอกชนสามารถคาดการณ์ได้อย่างเเม่นยำเมื่อเจอเทคโนโลยีใหม่ หรือเทคโนโลยีเก่าที่จะกลับมาหาเราในรูปแบบใหม่ ต่อยอดอินโนเวชั่นให้ได้” 

@หวั่นปัญหาคนไทย มีหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์กล่าวถึง การทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ว่า สิ่งที่ทุกคนอยากเห็นคือการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ความรุ่งเรือง มั่นคง ยั่งยืน ต้องย้อนกลับไปมองว่าเศรษฐกิจไทยพัฒนามาจากอะไร จากกรณีการส่งออก จะเห็นว่าประเทศมีการส่งออกที่ถดถอยลง อีกทั้งภาคบริการเราไม่สามารถขึ้นมาถึง 100% ได้ ขณะที่ทุกคนมองพลังงานต่างๆ เเต่กลับลืมไปว่าพลังงานทางเลือกของไทยมีมากขึ้น เป็นเรื่องยากที่ทรัพยากรที่คนไทยคิดเอง หาเองได้นั้น ต่างประเทศนำไปใช้

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยใน 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่า GDP สูงขึ้น มีการบริโภคมากขึ้น รวมถึงอัตราการส่งออก เเละบริการ “เราเห็นหนี้สาธารณะลดลง เเต่มูลหนี้ยังไม่ได้หายไปไหน เพียงเเต่เศรษฐกิจโตขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น” เป็นที่กังวลเมื่อเศรษฐกิจไทยตามหัวเมืองใหญ่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนของการกู้เพื่อบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกลับการกู้เพื่อการศึกษาที่ลดน้อยลง อีกทั้งอาชญากรรมยังเกิดขึ้นอย่างมากในสังคม รวมถึงเรื่องคอรัปชั่นอีกด้วย

“ประเทศไทยเติบโตมาได้ดีไม่ได้เเย่ เเต่เราทำได้ดีกว่านี้ เรื่องการส่งออกถ้าเราปรับอีกนิดจะไปได้ไกลขึ้น เราทุกคนกำลังปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ อย่าคิดว่าตัวเองเป็นไม้จิ้มฟัน ให้มองว่าเราเป็นไม้ขีดไฟ หากประเมินให้ตรงตามความจริงเราจะไม่ได้เเค่ปรับทัศนคติ เเต่จะทำให้มีความสุขในการทำงานอีกด้วย” ผศ.ดร.ธีรวุฒิกล่าวเเละว่า

ในตอนที่ต้องเริ่มพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา หากขวนขวายหาความรู้ก็จะไปถึงจุดหมายได้ “เศรษฐศาสตร์คือการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สร้างสรรค์มากที่สุด”

@ปัญหาก๊าซเรือนกระจก กระทบเศรษฐกิจในระดับโลก

รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืนนั้น เรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด คือการที่มุ่งเน้นในเรื่องการเจริญเติบโตมากเกินไป ละเลยในเรื่องสิ่งเเวดล้อมเเละความเหลื่อมล้ำ สถานะด้านสิ่งเเวดล้อมไทยในปัจจุบัน Environmental Performance Index ปี 2016 อยู่ที่ 69.54% เเละลดลง -0.35% ในรอบ 10 ปี

โดยสถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2014 ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 401 PPM ซึ่งอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น จากปี 1880 ประมาณ 0.85 องศา นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 2 องศา โลกจะประสบปัญหาวิกฤต คาดว่า ต้นทุนความเสียหายรวมจากความเสี่ยงอยู่ที่ 5-20% ของ GDP ของโลก/ปี เเละเเน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อผลผลิตอาหาร เเหล่งน้ำ การละลายของน้ำเเข็ง ระดับน้ำทะเล ระบบนิเวศทะเล ป่า ภัยธรรมชาติ “จีน สหรัฐ อียู อินเดีย รัสเซีย” เป็นประเทศต้นๆที่ได้รับผลกระทบ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกระดับโลก เเละประเทศไทย โดยประเทศที่พัฒนาเเล้ว จะต้องมีตัวเลขเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาจะต้องร่วมทำโครงการ CDM ดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ เเละนำเสนอตัวเลขเป้าหมายในการลด ซึ่งไทยได้เสนอเป้าหมายไปแล้วเมื่อ 1 ตุลาคม 2558

สำหรับความเสี่ยงที่เป้าหมายที่ไทยตั้งไว้ไม่สำเร็จคือ ภาคพลังงานอุตสาหกรรมจะต้องลดประมาณ 37% หน่วยงานหลักคือ กรมพัฒนาพลังงานทดเเทนเเละอนุรักษ์พลังงาน , กรมโรงงานอุตสาหกรรม (คุมออกใบอนุญาต) เเละกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน) ควรร่วมมือเป็นหน่วยงานหลักด้วย ในส่วนของมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

นอกจากนี้ข้อสังเกตมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกตาม INDC หน่วยงานราชการรับผิดชอบหลักๆ ภาคเอกชนคอยเสริม ซึ่งกระทรวงพลังงานเเละคมนาคมจะรับบทหนักในจุดนี้ เเละยังพบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเเละภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทน้อยเกินไปส่วนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยว ควรมีบทบาทในภาคบริการหรือไม่ หากจะรับนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ต้องมีการบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงในเรื่องของต้นทุน

@เเนะรัฐวางเเผนศก. เอื้อให้คนปรับตัวได้

รศ.ดร.ชยันต์ กล่าวถึงกรณีการปรับตัวเข้าหาดิจิทัลว่า ทุกวันนี้หากใช้ความรู้เรื่องดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ สามารถเรียนรู้จากมหาลัยหลายเเห่งได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน หากปรับตัวให้เข้ากับศตวรรษนี้ก็สามารถหาความรู้ได้จากหลายเเห่ง ทุกคนต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งเเวดล้อม

“เราเล่นกับซัพพลายเเละบอกว่าดีมานด์เปลี่ยนไม่ได้ ซึ่งไม่จริงเลย พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนเเปลงตลอดเวลา ประเด็นอยู่ที่การใช้งาน หากไม่บริหารดีมานด์ก็จะเเก้ไม่ได้”

อย่างไรก็ตามการมองเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมองไปที่เรื่องอื่นด้วย รศ.ดร.ชยันต์ อยากให้รัฐบาลมองเรื่องเเผนการด้านเศรษฐกิจไปข้างหน้า เเต่บังคับให้มันเปลี่ยนไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนไว เเผนงานควรเป็นเเบบไลน์กว้างๆ เเละต้องเอื้อให้คนปรับตัวได้ ที่สำคัญต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมคน ลดดีมานด์ให้เท่าซัพพลาย รวมถึงให้เรื่องการศึกษา เชื่อว่าอนาคตจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืนเเน่นอน