กรมประมงเปิดให้ชาวประมงขอใบอนุญาตการทำประมง 20 ม.ค.-20ก.พ.2561

20 ม.ค. – 20 ก.พ. 2561 กรมประมงเปิดขอใบอนุญาตทำประมง ชี้หากไม่มีใบอนุญาตโทษรุนแรง เตือนเรือประมงพาณิชย์รักษาสิทธิ์ ยื่นเรื่องก่อนขึ้นรอบการทำประมงใหม่ พร้อมบูรณาการร่วมกรมเจ้าท่าและศปมผ. บริการเบ็ดเสร็จที่เดียวจบ! ในการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์และการต่อใบอนุญาตใช้เรือรอบปีการประมง 2561 – 2562

จากการที่พระราชกำหนดการประมง 2558 ได้วางรากฐานการประมงไทยใหม่จากเดิมทำการประมงโดย “เสรี” มาเป็นการทำการประมงที่ต้องขอ “อนุญาต” ภายใต้ปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน การออกใบอนุญาตทำการประมงให้กับเรือประมงจึงเป็นกระบวนการดำเนินการที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะอนุญาตให้เรือประมงเข้าทำการประมงในน่านน้ำไทย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เนื่องจากใบอนุญาตทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์ในรอบปีการประมง 2559 – 2560 (1 เมษายน 2559 – 31 มีนาคม 2561) กำลังใกล้จะสิ้นสุด ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่องของการทำการประมง กรมประมงจึงได้ออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 4 มกราคม2561 เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับปีการประมง 2561 – 2562 พ.ศ. 2561 โดยเตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการ เรือประมง ขนาด 10 ตันกรอส ขึ้นไป หรือเรือประมงที่มีขนาดแรงม้า 280 แรงม้าขึ้นไป และเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 7 เครื่องมือ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่(อวนลากเดี่ยว) อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกลเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) มาแจ้งยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ได้ในระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง หรือสถานที่อื่นที่กรมประมงประกาศกำหนดเท่านั้น หากขึ้นรอบปีการประมงใหม่ ซึ่งเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2561 เรือประมงลำใดออกไปทำประมงโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษรุนแรงทั้งทางอาญาและมาตรการทางปกครองตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ด้านขั้นตอนการขอยื่นรับใบอนุญาตทำการประมง หลังจากทางผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ได้ดำเนินการยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว ทางกรมประมง กรมเจ้าท่า และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย(ศปมผ.) จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเรือประมง โดยจะแบ่งกลุ่มเรือเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ๆ ดังนี้

1. เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเกิน 30 ตันกรอส ทุกเครื่องมือ เรือประมงต่ำกว่า 30 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือ อวนลากทุกชนิด อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง (เรือขาว-ส้ม) ทำการตรวจโดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง(PIPO )

2. เรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ไม่ต้องแจ้งเข้าออกและเรือที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส จะถูกตรวจโดยคณะทำงานตรวจเรือของศูนย์แก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ซึ่งเรียกว่าการตรวจเรือ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า และศปมผ. โดยเรือที่ต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องมือทำการประมง 7 เครื่องมือ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกลเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) จะต้องทำอัตลักษณ์เรือ และวัดขนาดเรือใหม่

หลังจากที่ได้มีการตรวจเรือประมงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ทางกรมประมงจะแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตมารับชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอากรทำการประมงและรับใบอนุญาตทำการประมง ณ สำนักงานประมงอำเภอที่ยื่นคำไว้ สำหรับใบอนุญาตใช้เรือให้ชาวประมงที่ได้รับอนุญาตไปชำระค่าธรรมเนียมและรับใบอนุญาตใช้เรือ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในจังหวัดที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจะต้องนำเรือพร้อมเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตมาให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงตรวจก่อนออกไปทำการประมงครั้งแรกของปีการประมง 2561 – 2562 (โดยขอรับการตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2561 หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปีการประมงใหม่) ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปีการประมง 2561 – 2562 เบอร์โทรศัพท์ 02-561-1418 ,091-057-5317, 064-014-1812, 097-326-9095 หรือสำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่