“วิกรม” ประกาศรีแบรนด์ “อมตะซิตี้” ปรับโฉมสู่ Smart City

การประกาศ รีแบรนด์กลุ่มบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูล”กรมดิษฐ์” ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยมานาน 42 ปี ถือเป็นก้าวจังหวะสำคัญที่น่าจับตายิ่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ให้มีชื่อที่จดจำง่ายเป็นชื่อเดียวกันในนามของ “อมตะซิตี้” ภายหลังรัฐบาลประกาศ เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด

รีแบรนด์ครั้งใหญ่

นายวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ในฐานะพี่ใหญ่ของตระกูลมองระยะยาวจากนี้ไปถึง 5 ปีข้างหน้า (2561-2564) ว่า ปัจจุบันกลุ่มอมตะได้ขยายธุรกิจมีบริษัทลูกในเครือข่ายอีกว่า 32 บริษัท ที่ให้บริการสาธารณูปโภคทั้งโรงไฟฟ้า ประปา แต่สัดส่วนหลัก 75% ยังคงเป็นรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม2 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่รวมกันกว่า 10,000 ไร่ คือ “อมตะซิตี้ จ.ระยอง” พื้นที่ 6,000 ไร่

และ “อมตะนคร จ.ชลบุรี” พื้นที่ 4,000 ไร่ รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV อย่าง “เวียดนาม” และเตรียมไปลงทุนใน “เมียนมา” อีกไม่นาน

การรีแบรนด์ครั้งนี้จะไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนชื่อให้ทั้ง 2 พื้นที่มีชื่อที่จดจำง่าย จาก อมตะนคร เป็น “อมตะซิตี้ ชลบุรี” และอมตะซิตี้ เป็น “อมตะซิตี้ ระยอง” นอกจากนี้ ยังประกาศนโยบายที่จะให้อมตะปรับโฉมใหม่ไปสู่เมืองอัจฉริยะ “Smart City” ทั้งหมด

เมื่ออาณาจักรของอมตะปัจจุบันมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 1,300 แห่ง มีพื้นที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน100 ตร. กม. และจะขยายเพิ่มเป็น 800 ตร. กม. มีประชากร 300,000 คน คาดจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน และยังมีแผนที่จะก่อตั้งบริษัทลูกเพิ่มอีกในอนาคตรองรับธุรกิจและการบริการอื่น ๆ

ขณะที่ GDP ของอมตะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 800,000 ล้านบาท จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมทุกอย่างที่จะเดินหน้าทั้งการขยายไปสู่การลงทุนต่างประเทศเพิ่ม

แน่นอนจากแผนธุรกิจจะเห็นการเติบโตขึ้นในส่วนของภาคการผลิต อมตะจึงต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งน้ำ ไฟ จราจรเอาไว้รองรับให้พร้อม ดังนั้น ธุรกิจอื่นที่จะตามมา “อมตะ” จะไม่เน้นไปเพียงการพัฒนาเพื่อขายพื้นที่ในรูปแบบที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม ๆ

เพียงอย่างเดียว เนื่องจากราคาที่ดินและค่าแรงไม่คุ้มกับการลงทุน จึงเป็นที่มาของการออกไปลงทุนต่างประเทศ และรวมบางธุรกิจภาคบริการเข้าด้วยกัน และจะดึงโมเดล Smart City ที่ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์มาใช้กับนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนามและเมียนมาเช่นเดียวกัน

ดึงญี่ปุ่น-โสม-สวีเดนร่วมพัฒนา

การจะนำไปสู่เมืองครบวงจรอย่างสมบูรณ์ได้ เริ่มจากร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เช่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของ “โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น” ที่จะนำอมตะไปสู่การเป็น community ซึ่งจะมีทั้งโรงแรม โรงพยาบาลหรือแม้กระทั่งโรงเรียนในพื้นที่ที่เรียกว่า “นิคมอุตสาหกรรม”

ขณะที่ “บริษัท อินชอน สมาร์ทชิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” (Incheon Smart City Corporation) ประเทศเกาหลี อมตะฯ จะนำโมเดลการคมนาคมสร้างเมืองที่เชื่อมกับสนามบินอย่างไร ทำให้บริษัทใหญ่สนใจเข้ามานักลงทุน และบริษัท Saab AB จากประเทศสวีเดน จะเป็นการร่วมพัฒนาระบบ IOT ลิงก์กันได้ทั้งเมือง ซึ่งอาจรวมไปถึงการเป็นส่วนเชื่อมประสานนักลงทุนจากสวีเดนเข้ามา

ทุ่มงบฯ 5 พันล้านขยายลงทุน

สำหรับงบฯลงทุนในปี 2561 บริษัทเตรียมงบฯไว้ 5,000 ล้านบาท ใช้ในการลงทุน 2 ประเทศ แบ่งเป็นลงทุนในเวียดนาม 3,400 ล้านบาท ที่เหลือลงทุนในประเทศไทย โดยตั้งเป้าขายที่ดินทั้งในไทย และประเทศเวียดนามจำนวน 925 ไร่ ซึ่งพื้นที่โรงงานให้เช่าในประเทศเวียดนาม 2 แห่ง 28,000 ตารางเมตร ดังนั้นจึงคาดว่ารายได้ปี 2561 จะเติบโตประมาณ 10-20%

“นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า แรงหนุนหลักมาจากโครงการ EEC มาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก

บีโอไอ การสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะ กระทรวงอุตสาหกรรม และรวมไปถึงการลงทุนใหญ่จากการประกาศ “เขตพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ” ของทั้ง2 นิคม การลงทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ที่เดินทางมาไทยเมื่อปีที่แล้ว

และกลุ่มนักลงทุนจีนที่เตรียมเดินทางมาไทยในเดือน ก.พ.นี้ ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมด 1,400 เมกะวัตต์ และจากตัวเลข 9 เดือนของ

ปี 2560 พบว่าอมตะฯมียอดขายที่ดินรอโอนราว 1,960 ล้านบาท ขณะที่การขายที่ดินในปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 400-500 ไร่ ต่ำกว่าเป้าที่ 1,000 ไร่ เนื่องจากลูกค้ารอความชัดเจนแผนลงทุน EEC

Q1 เตรียมลุย “ย่างกุ้ง” เมียนมา

เวียดนามถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการลงทุนของกลุ่มอมตะนอกจากไทย “นางสมหะทัย พานิชชีวะ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่ลังเลจะใช้เม็ดเงินถึง 3,400 ล้านบาท ขยายการลงทุนเพิ่ม รองรับการประกาศพื้นที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” จากทางรัฐบาลเวียดนาม จะส่งผลให้บริษัท อมตะ ชิตี้ ฮาลอง (AMATA City Halong) พื้นที่ 36,200 ไร่ ได้รับสิทธิประโยชน์หลังจากได้ใบอนุญาตการลงทุนภายในปีนี้

ส่วนการลงทุนใน “เมียนมา” และ “สปป.ลาว” ยังเป็นอีกประเทศที่อมตะฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมการขยายการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยในประเทศเมียนมาจะไปลงทุนในกรุงย่างกุ้ง คาดได้ใบอนุญาตการลงทุนภายในไตรมาส 1/2561