สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 2 หมู่บ้าน : 1 ร้านธงฟ้าประชารัฐ

สัมภาษณ์

ครบ 2 เดือนหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เปิดใจให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ถึงภารกิจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากต่อเนื่องจากเมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครั้งนั้นสนธิรัตน์ได้สร้างปรากฏการณ์สร้างกองทัพโชห่วยเข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐได้ครบ 18,000 แห่งในเวลา 2 เดือน รองรับประชาชนที่ลงทะเบียนคนจน 11.4 ล้านคน

นโยบายเร่งด่วน

นโยบายที่ให้ความสำคัญอันดับแรกยังคงมุ่งเน้นเศรษฐกิจฐานราก จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โอท็อป ชุมชนมีโอกาสที่จะเติบโตด้านรายได้มากขึ้น กระทรวงพาณิชย์จะใช้กลไกตลาดเข้าไปขับเคลื่อน โดยการเพิ่มจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) ปัจจุบันที่มีอยู่ 20,000 แห่งกำลังขยายเป็น 40,000 แห่งทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคมนี้

การเพิ่มจำนวนร้านค้าอาจไม่ใช่เครื่องมือในการตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจฐานรากทั้งหมด แต่เป็นกลไกที่จะช่วยให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่เคยผลิตแล้วไม่มีช่องทางการจำหน่ายให้ได้มีพื้นที่จำหน่ายได้ ทั้งยังช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าเกษตร สินค้าเอสเอ็มอี โอท็อป มีช่องทางจัดจำหน่ายจากเดิมที่ต้องรอให้มีงานจัดจำหน่ายซึ่งจัดเป็นครั้งคราว ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้ารายเล็ก ๆ ในประเทศมีจำนวน 2-3 ล้านราย กลุ่มคนเหล่านี้แข็งแรงไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ นี่จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ คือ ต้องนำเขาเข้าสู่ตลาดให้ได้ ให้มีช่องทางการตลาดให้

ปลดล็อก “ซัพพลายเออร์ท้องถิ่น”

หากมีจำนวนร้านธงฟ้าประชารัฐ ครบ 40,000 แห่ง หมายความว่ามีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ (80,000 หมู่บ้าน) คิดเป็นร้านธงฟ้า 1 แห่ง ต่อ 2 หมู่บ้าน ซึ่งจากนั้นถึงวันนี้รูปแบบการค้าเปลี่ยน อีคอมเมิร์ซจะมาแน่นอน กลไกร้านค้า 40,000 แห่งจะเป็นตัวช่วยสปีดอัพในเรื่องการนำสินค้าชุมชนเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ

สาเหตุที่คนตัวเล็กไปไม่ได้ คือ ผลิตเสร็จก็ขายตรงนั้นหรือไม่มีที่ขาย แต่หากเมื่อไรที่คนตัวเล็กสามารถผลิตสินค้า และขายได้ ที่เป็นช่องทางจำหน่ายที่ถูกต้อง นั่นเป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจฐานราก ในมุมมองของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องนี้จึงถือเป็นโปรเจ็กต์ที่สำคัญของเรา

หัวใจใหญ่ คือ ตอนที่เราไปเจอกาฬสินธุ์โมเดลของนายกรัฐมนตรี มีเกษตรกรปลูกพุทรานมสดแบบกางมุ้ง ปรากฏว่าปลูกแล้วรอคนกลางมารับซื้อ ก็ถูกกดราคาเหลือ กก.ละ 20 บาทไม่ได้กำไร เพราะต้นทุนแพง แต่พ่อค้ามาขายในตลาด 80-100 บาท

กรณีนี้หากมาอยู่ในกลไกที่เราดำเนินการสามารถเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ร้านค้าที่อาจเป็นอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคซื้อตรงได้ในราคา กก.ละ 50 บาท บวกค่าขนส่งอีก 10 บาท รวมเป็นราคา 60 บาท ซึ่งยังถูกกว่าราคาตลาด แต่เกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้นจาก กก.ละ 20 บาท เป็น 50 บาท เป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ของผู้ผลิตรายเล็กภายใต้กลไกของกระทรวงพาณิชย์

ตัดช่อง “พ่อค้าคนกลาง”

โครงการนี้จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้าช่องทางที่ผ่านคนกลางดีกว่าก็ผ่านคนกลาง เราไม่ได้บอกว่าคนกลางไม่ดี เพราะคนกลางมีทั้งคนดีและไม่ดี เป็นกลไกการขับเคลื่อน ไม่ใช่เป็นผู้ร้ายเสมอไป เสริมบทบาทด้านอีคอมเมิร์ซ

ในภาพใหญ่ได้มีคณะทำงานยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งจะรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องนี้รองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มอบให้พาณิชย์เป็นแม่งาน แต่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ คือ ทำอย่างไรให้อีคอมเมิร์ซมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม่งานยุทธศาสตร์อีคอมเมิร์ซ

ขณะนี้ได้ตั้งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์คุณบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์เป็นมิสเตอร์อีคอมเมิร์ซรับผิดชอบทั้งหมด ทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานแบบ metrix organization ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดูเรื่องนี้ส่วนหนึ่ง และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ดูอีกส่วนหนึ่ง

หน้าที่ของมิสเตอร์อีคอมเมิร์ซจะเป็นผู้เชื่อมโยงการทำงานของทั้งสองกรม ตาม agenda base โดยเป้าหมายด้านอีคอมเมิร์ซของผมจะไม่ได้ดูที่ปริมาณหรือจำนวนผู้เข้ารับการอบรม แต่วัดในจุดที่ว่าเอสเอ็มอี สามารถค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้เพิ่มขึ้นเท่าไร หลังจากที่เราเข้าไปสนับสนุนแล้วเติบโตได้เท่าไร

บูรณาการดีอี-อุตสาหกรรม

ที่ผ่านมามีการบูรณาการงานกัน แต่แบ่งแยกตามภารกิจ เช่น เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมเอสเอ็มอีด้านการผลิต แต่หากเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดให้ยกมาที่กระทรวงพาณิชย์ หรือเรื่องอีคอมเมิร์ซ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูแลเรื่องการทำแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี คลื่นสัญญาณ แต่พาณิชย์ดูแลเรื่องการเชื่อมโยงสู่โชห่วย เป็นการทำงานใกล้ชิดกันทุกฝ่าย

ตัวอย่างเช่นในการร่วมกันทำงานกับกระทรวงดีอี ในโครงการร้านธงฟ้า 40,000 แห่ง จะมี 10,000 แห่งร่วมกับดีอี และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการจัดทำโชห่วยไฮบริด หรือกระทรวงดีอี อาจเรียกว่า โมเดลอูเล่ เป็นต้น

ตั้ง 5 มิสเตอร์ดูแลครบวงจร

นอกจากนี้ การดูแลงานด้านอื่นของกระทรวงพาณิชย์ใช้รูปแบบการทำงานแบบ metrix organization กับงานทั้งหมดของกระทรวง ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกฯสมคิด ซึ่งขณะนี้มีตั้งมิสเตอร์ 5 คน คือ 1) นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2) นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ มิสเตอร์ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

3) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน มิสเตอร์ผลไม้ 4) นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มิสเตอร์อินเดีย และ 5) มิสเตอร์ปาล์มน้ำมัน คือ นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (ครม.เพิ่งผ่านความเห็นชอบในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561) การส่งไม้ต่อหลังเลือกตั้ง

ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง สิ่งที่ผมสนใจ คือ ประเทศ และพี่น้องประชาชน อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ผมก็พร้อมที่จะทำ ส่วนเรื่องของการเมือง ก็เป็นเรื่องของกลไกที่เดินหน้าไป เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ตอนนี้เราไม่ใช่นักการเมือง แต่ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด


จุดยืนของผมคือ อะไรที่ทำไปผมให้ความสำคัญ เช่นกรณีเรื่องร้านค้าถ้าทำแล้วไปได้ดี ผมเชื่อว่าจะมีคนเข้ามาต่อยอด เพราะทุกคนที่เข้ามาต่างต้องการให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต ยกตัวอย่างนโยบายเก่า ๆ ถ้าทำไว้ดีไม่มีใครกล้าลบ ฉะนั้น หน้าที่ของรัฐบาลนี้คือริเริ่มดำเนินการในสิ่งที่ดี ทำให้เกิดผล หากทำให้ข้างล่างดีเศรษฐกิจดี ก็จะอยู่ได้ เพราะทุกสิ่งที่ผมทำผมคิดว่าการทำงานไม่ใช่โปรเจ็กต์เฉพาะกิจในขณะที่ผมดูแลอยู่ พยายามหลีกเลี่ยงการทำงานลักษณะนั้น เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติแต่อย่างไร