Angel Fund ปั้นสตาร์ตอัพเป็นซัพพลายเออร์ให้รายใหญ่ เดลต้าอัดเงินทุนต่อปี’66

Angel Fund ปั้นสตาร์ตอัพ

กระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มโครงการ “Angel Fund-Startup Connect ปี 7” ดันสตาร์ตอัพไทยกว่า 71 ธุรกิจ เข้าถึงแหล่งทุนต่อยอดการตลาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 70 ล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย 420 ล้านบาท “เดลต้า” ให้ทุนต่ออีกปี 2566 เปิดโอกาสรายเล็กร่วมพันธมิตรกับรายใหญ่

วันที่ 14 กันยายน 2565 นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการขับเคลื่อนสตาร์ตอัพไทย ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ DIPROM) ได้ร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ Angel Fund (กองทุนสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า) และโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect ที่มุ่งเน้นกิจกรรม Cocreation หรือการสร้างนวัตกรรมร่วม คาดทั้ง 2 โครงการในปี 2565 จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 420 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น จำนวน 44 ธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่และจ้างงานในประเทศไม่น้อยกว่า 130 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวม 70  ล้านบาท ทำให้มีโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่และทดลองใช้นวัตกรรมในตลาดจริง และยังเชื่อมโยงสตาร์ตอัพเข้าถึงตลาดภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท พร้อมนำไปสู่แหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ (VC/CVC) 115 ล้านบาท รวมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจของสตาร์ตอัพที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ทั้ง 12 ด้าน อาทิ การแพทย์ครบวงจร การเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ แพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยีการเงิน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ เกิดเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย อาทิ EMMA-เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีดอัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์และจำแนกเคสที่ผิดปกติของโรคหัวใจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ

Planet C-แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบเรียลไทม์สำหรับอุตสาหกรรม หรือ Renewsi ซิลิกอนเกรดแบตเตอรี่จากขยะโซลาร์เซลล์ ที่ใช้สำหรับทำเป็นขั้วไฟฟ้าในเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2566 เตรียมร่วมมือกับภาคการศึกษา และภาคเอกชนให้มากขึ้น เน้นการพัฒนาเครือข่ายตลาดภาครัฐควบคู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมุ่งเป้าสนับสนุนเทคโนโลยีด้าน GovTech ที่ช่วยให้ภาครัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ IndustryTech เทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ถูกคิดค้นและพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป

ด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทยังคงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ตอัพที่คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่าง ๆ เชื่อมั่นในสตาร์ตอัพเหล่านี้ว่า สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จึงต้องการนวัตกรรมมาตอบโจทย์