ลาวร่วมทุนจีนตั้ง “EDL-T” ทำสายส่ง 500 KV ขายไฟเพื่อนบ้าน

สุลีวัฒน์ สุวรรณจูมคัม

นอกเหนือไปจากโครงการรถไฟจีน-ลาวที่เปิดให้บริการไปแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนา “ระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า” ขนาด 500 KV

โดยโครงการนี้จะ “ต่อยอด” การเป็น “แบตเตอรี่ของอาเซียน” ส่งผลให้ สปป.ลาว เปลี่ยนประเทศจากการเป็น “Land Lock” สู่ Land Link” ด้วยการมีจุดแข็งทั้งด้านโลจิสติกส์และพลังงาน

นายสุลีวัฒน์ สุวรรณจูมคัม (Soulivath Souvannachoumkham) ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายบริหารจัดการหนี้สาธารณะ (Director General of Department of Public Debt Management) กระทรวงการเงิน สปป.ลาว กล่าวว่า ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากของ สปป.ลาว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากลาวมีเขื่อนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สปป.ลาว มีแผนจะส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิม 9,000 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10,500 MW, กัมพูชาจากไม่ถึง 1,000 MW ปัจจุบันเซ็นไปแล้ว 6,000 MW, เวียดนาม 5,000 MW, เมียนมา 300 MW, มาเลเซีย 300 MW และสิงคโปร์ 130 MW

โดยการมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนมากมาย ทำให้ สปป.ลาวจะต้องมี “ทรานส์มิสชั่น” สายส่งไฟฟ้าเป็นของตนเอง จากที่ผ่านมารัฐบาลลาวได้สร้าง “ระบบสายส่งแห่งชาติ” ขึ้นมาจนเกือบครบ แต่ที่จะต้องเชื่อมกันให้เป็นลิงก์ทั้งหมดไปขายให้กับประเทศคู่สัญญา

ล่าสุด รัฐบาลลาวได้ร่วมทุนกับ China Southern Power Grid หรือ CSG รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน ร่วมกันตั้งบริษัท EDL Transmission หรือ EDL-T โดยจีนถือหุ้น 90% การไฟฟ้าลาว (EDL) ถือหุ้นอีก 10%

และเพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณ โครงการนี้ทางฝ่ายจีน หรือ CSG จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ความเป็นเจ้าของยังเป็นของรัฐบาลลาว เป็นการให้สัมปทานสายส่ง 40 ปี

“ได้มีการชำระเงินล่วงหน้าให้รัฐบาล 625 ล้านเหรียญสหรัฐก่อน โดยโปรเจ็กต์นี้ต่อยอดจากเดิมที่มีสายส่งที่สร้างมาก่อนแล้ว 14 ทรานส์มิสชั่นที่เป็นขนาด 230 MW ขึ้นไป จะให้ EDL-T บริหาร และ EDL-T จะมอบรายได้ให้กับรัฐ

ดังนั้นถ้ามองภาพรวม รัฐบาล สปป.ลาวขายโครงการให้จีนหรือไม่นั้น มันเป็นแค่สัมปทาน ปรับปรุงระบบ และสร้างรายรับให้รัฐบาลลาว”

โดยประโยชน์ที่ สปป.ลาวจะได้รับก็คือ เงินทุนที่จะเข้ามาลงทุนในลาว, ประสบการณ์ในการเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงสายส่งที่ลาว และการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อสายส่งของลาวเพื่อที่จะขายไฟไปยังประเทศต่าง ๆ

และยังจะช่วยปรับปรุงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างลาว-จีนในอนาคตจะมีการแลกเปลี่ยนพลังงานส่วนเกิน (surplus energy) ระหว่างกัน ที่มีการขายให้ลูกค้าจะผลิตไฟฟ้าและส่งไปฝากไว้ที่จีน และซื้อไฟกลับมาเมื่อลูกค้ามีความต้องการเพื่อจะไม่ให้เสียเปล่า

ด้าน นายวันแสง วรรณวงศ์ (Vanhseng Vannavong) CEO บริษัท ผลิตไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) (EDL Generation Public Company) หรือ EDL Gen กล่าวว่า รัฐบาลลาวให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยการให้ “สัมปทาน” เมื่อครบอายุสัมปทาน “ทรัพย์สิน” ทั้งหมดก็จะตกเป็นของ สปป.ลาว เหมือนกับการให้สัมปทานเขื่อน

ดังนั้น ผลประโยชน์โดยตรงก็คือ ภาระต่าง ๆ ที่รัฐบาลลาวต้องจ่ายในการทำโครงการลดลง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เกิดการพัฒนาทรัพย์สิน ก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ เพราะ “ท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีใครมายกเอาเขื่อนของลาวไปได้”

สำหรับแนวเส้นทางโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าใหม่นั้น อาจจะเริ่มที่ นาบง-ซับสเตชั่น ขึ้นอยู่กับการตกลงของจีนกับรัฐบาลลาว แต่กริดนี้จะไม่ได้เชื่อมกับรถไฟจีน-ลาว ปัจจุบัน 115 KV ผ่านทางระบบของ CSG ที่นาหม้อ ระบบ 500 KV จะเป็นนาหม้อ-ยูนนาน

“MOU เฟรมเวิร์กที่จะซื้อขายพลังงาน ทาง CSG จะเป็นผู้ดูแล สามารถซื้อไฟจากลาวแล้วไปขายทางภาคใต้ของประเทศจีนได้ จากก่อนหน้านี้ สัญญา PPA จะมีแค่การนำเข้าไฟฟ้าจากจีน โดยซื้อมาอยู่ที่ตอนเหนือ เนื่องจากลาวยังไม่มีสายส่งไฟฟ้าไปถึง แต่ปัจจุบันสัญญาได้ถูกพัฒนาเป็นแบบ PPA แบบแลกเปลี่ยน คล้ายกับที่ สปป.ลาวทำกับ กฟผ.