พีระเดช ตรงกิจไพศาล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย

พีระเดช ตรงกิจไพศาล
สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมหล่อโลหะ จัดเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยงานหล่อโลหะเริ่มจากเปลี่ยน “เศษเหล็ก” เป็นของเหลวหรือเป็น “น้ำเหล็ก” เทใส่แม่พิมพ์เพื่อให้ได้ชิ้นงานตามต้องการ

โดยอุตสาหกรรมนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หล่อชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ, เครื่องจักรกลการเกษตร, ระบบลำเลียง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายพีระเดช ตรงกิจไพศาล นายกสมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย ถึงเทรนด์อุตสาหกรรมนี้ในอนาคต

ภาพรวมอุตสาหกรรม

สมาชิกสมาคมตอนนี้มีประมาณ 123 ราย แบ่งเป็น กลุ่มบนจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจากบริษัทจอยต์เวนเจอร์กับต่างประเทศ (ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน) ที่มาลงทุนในบ้านเราเป็นซัพพลายเชนขนาดใหญ่ มีกลุ่มยานยนต์เป็นหลัก ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มระดับกลางที่เป็นบริษัทไทยที่มีศักยภาพที่เติบโตมากขึ้น

จะเน้นผลิตพวกออโตเมชั่น อุตสาหกรรมที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนแน่นอน นอกจากนี้เรายังมีสมาชิกที่เป็น SMEs ที่ทำงานรับจ้างคละ ๆ กันไป ซึ่งก็อาจจะมีมากกว่านี้ แต่ในปี 2565 เป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 200 ราย

โดยมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ถ้าอิงกับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างที่บอกว่า ปีที่ผ่านมาเราผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 1.8 ล้านคัน ดังนั้นงานหล่อจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของมูลค่า หรือน่าจะแตะ 100,000 ล้านบาท เพราะงานมันซ่อนอยู่ในหลาย ๆ อย่าง

ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง เทคโนโลยี ก่อสร้างทางด่วน ก่อสร้างรถไฟฟ้า ภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้น 20-30% ส่วนแนวโน้มของอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง ถ้าจีนยังไม่เปิดประเทศและสหรัฐกับจีนยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ผมว่าทางผู้ที่หางานยังมีระดับที่จะเติบโตไปได้มากกว่า มีแนวโน้มที่ทรงตัวค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ ประเมินว่า การเติบโตในปีนี้น่าได้สัก 15-20% แน่ ๆ

ลูกค้าจีนหันมาจ้างไทย

ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมของเราเติบโตนั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน สหรัฐกับจีนขัดแย้งกัน ทำให้ผู้ว่าจ้างต่าง ๆ ที่เคยไปจ้างจีน เนื่องจากราคาถูก ก็หันมาหาเรา เหตุผลที่ 2 คือ พอมาเจอโควิด-19 จีนปิดประเทศ ผู้จ้างก็ต้องยิ่งกลับมาไทยมากขึ้น ทำให้ตอนนี้เราเองไม่ได้ผลิตงานหล่อโลหะเพื่อซัพพลายในประเทศอย่างเดียว

แต่เราผลิตซัพพลายส่งให้ต่างประเทศด้วย มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 30% อีกอย่างคือ “ค่าเงินบาท” ที่อ่อนมากด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรก อาจมีภาวะจากวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้น โดยเฉพาะตัวเศษเหล็กรูปภัณฑ์ ที่ปรับราคาขึ้นประมาณ 15-20% ถ้าพูดถึงต้นทุนนี้ อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นต้นน้ำ

ดังนั้นการเริ่มต้นที่จะปรับราคา พอราคาเศษเหล็กขึ้น เราไม่สามารถที่จะปรับขึ้นตามได้เลย เพราะบริษัทใหญ่ ๆ จะมีรอบในการปรับเป็นไตรมาสช่วงแรก ๆ ทำให้เราก็ต้องรับภาระเรื่องราคามาก่อน

โดยโรงหล่อระดับกลางจะหาซื้อเศษเหล็กภายในประเทศมากกว่า ไม่รวมเศษเหล็กที่โรงหล่อก่อสร้างที่ใช้เหล็กเยอะ จึงต้องนำเข้า ดังนั้นสิ่งที่กระทบค่าเงินก็คือ ราคาวัตถุดิบ สารเคมี ที่ประเทศไทยไม่มี เช่น เฟอโรซิลิกอน เฟอโรคาร์บอน เฟอโรแมงกานีส พวกอัลลอยต่าง ๆ

เป็นสิ่งที่นำเข้าหมดเลย อย่างราคาเศษเหล็กเมื่อต้นปีนี้ขยับขึ้นเป็น 20 กว่าบาท/กก. ย้อนไปเมื่อปี 2564 ตอนนั้นแค่ 12 บาท เมื่อปลายปีจนถึงต้นปีขึ้นเป็น 21-22 บาท/กก. แล้วพอมาช่วงกลางปี เทรนด์เริ่มลงมานิด ๆ อยู่ที่ 18 บาท/กก. ก็อ่อนตัวลงมานิดนึงตามราคาเหล็กโลก

รถ EV จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม

เรื่องนี้ก็พูดกันมาพอสมควร แต่ผมยังมองว่าแนวโน้มเครื่องยนต์สันดาปน่าจะไปอีก 10-15 ปี ส่วนรถ EV ที่เข้ามาก็จะมาแทรกในตลาดต่าง ๆ คนซื้อก็ต้องชั่งใจอยู่เหมือนกันคงไม่เปลี่ยนแปลงขนาดนั้น ผมว่าอุตสาหกรรมหล่อยานยนต์ก็ยังคงอยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง สัก 10 ปีขึ้นไปน่าจะมองเห็นภาพผลกระทบจากรถ EV ว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะหากรถยนต์ EV เข้ามาแทนที่รถสันดาปตัวเครื่องยนต์คงหายไปแน่ ๆ

แต่พวกช่วงล่างยังอยู่เหมือนเดิม อาทิ ดรัมเบรก ดิสก์เบรก ตัวระบบตรงนี้ยังคงอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายผมว่าอุตสาหกรรมเหล็กน่าจะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมที่หล่ออะลูมิเนียมที่เบาขึ้น

แต่ช่วงนี้รัฐบาลไทยพยายามผลักดันรถยนต์ EV ให้เข้ามาลงทุนบ้านเรามากขึ้น ก็มีบริษัทจีน ไม่ว่าจะเป็น BYD หรือแบรนด์อื่นเข้ามา ตอนนี้เป็นในลักษณะของการนำเข้ารถ EV ทั้งคัน เราคงใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการหาซอร์ซิ่งประกอบเข้ามาเรื่อย ๆ คงใช้ระยะเวลาอีก 1-2 ปี ในการหาแหล่งหรือทดลองประกอบกันต่าง ๆ

มีแค่บริษัท เกรท วอลล์ฯ อย่างเดียวที่มีโรงงานประกอบในบ้านเรา และเท่าที่ทราบ เกรท วอลล์ฯ มีมาใช้ระบบช่วงหน้ากับอุตสาหกรรมเรา ซอร์ซิ่งในบ้านเรา บางอย่างก็ทำในบ้านเราแล้วก็ซัพพลายของเขาอยู่แล้ว

แต่หากถามผมว่า EV จะเป็นโอกาสหรือความท้าทาย ผมว่าทุกอย่างมีโอกาส ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้มันเหมาะสมกับเทรนที่มันเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนก็พยายามหาช่องทางที่เหมาะสมตรงนั้นมากกว่า

ค่าไฟ-แรงงานกระทบโรงหล่อ

ตอนนี้โดนแต่ค่าไฟฟ้า เพราะการหล่อใช้เตาไฟฟ้าในการหลอมโลหะ ฉะนั้นค่าไฟฟ้ามีผลกระทบค่อนข้างจะมากที่มันปรับขึ้นมา แต่เราไม่สามารถจะผลักภาระให้กับลูกค้าปลายทางได้ เรารับก่อนเลยลำดับแรก ปรับค่าแรงมาปุ๊บ ผู้ประกอบการจุกก่อนเลย

เพราะเราต้องจ่ายค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น สมัยก่อนเราอิงจากเรื่องของราคาเศษเหล็กได้ เศษเหล็กเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ ปรับเท่าไหร่ แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของพลังงานที่เกี่ยวข้อง แล้วที่สำคัญมองในเรื่องการทำคาร์บอนซีโร่นั้น ก็เป็นต้นทุนของเราที่ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกันไม่ช้าก็เร็วอีก 10 ปีข้างหน้าประมาณปี 2050

ดังนั้นอุตสาหกรรมหล่อโลหะก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิลก็มีค่าคาร์บอนซีโร่ติดมาด้วย เราเองก็ต้องหาเทิร์ดปาร์ตี้มาคำนวณหาว่า มีคาร์บอนที่จะใช้ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งการที่จะปรับไปสู่คาร์บอนซีโร่ต้องทำอย่างไร

นั่นกำลังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกัน แต่สิ่งที่คุยกันตอนนี้คือ ต้นทางที่ผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนวิธีนำก๊าซมาใช้เป็นพลังงาน ส่วนหนึ่งเราต้องไปนั่งหาซื้อคาร์บอนเครดิตได้ขนาดไหน ยังเป็นเรื่องที่คุยกันไม่ชัดเจน

อุตฯ 4.0 แต่ยังต้องปรับตัว

จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมหล่อโลหะเป็นอุตสาหกรรมย้อนยุคสัก 2.0 เป็นหลัก ๆ ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมภาคหล่อต่าง ๆ ก็ยังต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่องออโตเมชั่นเข้ามาช่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือการทำซิมูเลชั่น ที่ทำงานได้สะดวกง่ายขึ้นและลดของเสียออกไป

สิ่งที่สำคัญที่เห็นภาพหลัก ๆ ปัญหาในอนาคตที่เราเจอแน่ ๆ ก็คือ เรื่องแรงงาน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมหล่อที่มีทั้งภาวะ ทั้งฝุ่น แดด ร้อน คนงานจะไม่ค่อยเข้ามาในสายอุตสาหกรรมนี้มากเท่าที่ควร

ผมจึงอยากจะฝากรัฐบาลเรื่องของแรงงาน เราพยายามส่งเสริมให้เด็กของเราจบปริญญาตรีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเราเนี่ยมีด้านเรื่องของสายอาชีพ ปวช. ปวส. มันทำให้แรงงานที่ต้องเข้ามาในภาคนี้หายไปหมด มีแต่เอ็นจิเนียร์ที่อยากจะทำงานอะไรที่มันง่าย ๆ ในงานที่มันเป็นงานฮาร์ดคอร์ต่าง ๆ ที่เราเป็นสายอาชีพหายหมดเลย


ขณะที่โรงหล่อโลหะ 1,000 พันตันใช้คนประมาณเกือบ 100 คนแล้ว ปีหนึ่งกี่พันตันแสนตัน ในส่วนอุตสาหกรรมก็ได้มีการขับเคลื่อน โดยการเตรียมจัดงาน GIFA METEC 2022 วันที่ 5-7 ต.ค. 2565 ถือเป็นการเลือกเมืองไทยมาจัดงานในอาเซียนเป็นครั้งแรกเป็นเรื่องที่ดีที่ดึงเอาเทคโนโลยีมาแสดงในเมืองไทย