PTTGC จับมือ ซัมซุง เอ็นจิเนียร์ริ่ง-ทีทีซีแอล ก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ขนาด 750,000 ตันต่อปี

PTTGC จับมือ ซัมซุง เอ็นจิเนียร์ริ่ง-ทีทีซีแอล ก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ขนาด 750,000 ตันต่อปี ขานรับนโยบาย EEC

PTTGC จับมือ ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง ไทยแลนด์ และ ทีทีซีแอล ลงนามสัญญาก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ใหม่ ในโครงการ Olefins Reconfiguration Project : ORP) เพื่อผลิตโอเลฟินส์ ขนาด 750,000 ตันต่อปี มูลค่า 985 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้กำลังการผลิตโอเลฟินส์รวมของ PTTGC เพิ่มขึ้นจาก 2,988,000 ตันต่อปี เป็น 3,738,000 ตันต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Mr. Supattanapong Punmeechaow, CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ลงนามในสัญญาออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง (Engineering, Procurement & Construction) กับ Mr. Sung An Choi, President, บริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (SECL) Mr. Sang Wook Lee, Managing Director, บริษัท ซัมซุง เอนจิเนียริ่ง ไทยแลนด์ จำกัด (SETT) และ นายวันชัย รตินธรVice President, บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) (TTCL) เพื่อก่อสร้างโรงงาน ปิโตรเคมี โครงการโรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ (Olefins Reconfiguration Project) โดยใช้แนฟทา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นวัตถุดิบหลัก โดยมีกำลังการผลิตเอทิลีน อยู่ที่ 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี ส่งผลให้กำลังการผลิตโอเลฟินส์ ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจาก 2,988,000 ตันต่อปี เป็น 3,738,000 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 985 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 35,657 ล้านบาท


โรงโอเลฟินส์แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนเดิมตั้งแต่ Eastern Seaboard ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร สร้างรายได้ให้กับประเทศหลายแสนล้านบาท มาเป็นเวลากว่า 30 ปี การลงทุนในครั้งนี้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการได้ผ่านความเห็นชอบตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้รับอนุมัติใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมส่วนขยายจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว