พาณิชย์ ถกผู้ประกอบการกว่า 100 ราย มั่นใจผลกระทบค่าแรงกระทบต้นทุนผลิตสินค้าไม่ถึง 2%

พาณิชย์ ถกผู้ประกอบการกว่า 100 ราย มั่นใจผลกระทบค่าแรงกระทบต้นทุนผลิตสินค้าสูงสุดไม่ถึง 2% “เกษตร-เอสเอ็มอี-บริการ” หนักมากที่สุด พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลหากพบขึ้นราคาไม่เป็นธรรมแจ้ง 1569

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมผู้ผลิตสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ เพื่อหารือถึงผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างรวมถึง รับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กว่า 100 ราย เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงยังไม่กระทบภาคอุตสาหกรรม และยืนยันว่าไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าในขณะนี้จากปัจจัยดังกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเห็นได้ชัดจากการรายงานของภาคเอกชน คือ ภาคเกษตร เอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่มากสุดไม่ถึง 2%

นอกจากนี้ จากการปรับขึ้นค่าแรงที่จะกระทบอีกกลุ่ม คือ ภาคบริการ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีมีผลกระทบต่อต้นทุนและส่งผลให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่

“ปัจจัยที่เกิดขึ้นอาจมีการปรับขึ้นราคาบ้างแต่ก็ไม่มาก แต่ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จากการศึกษาการปรับขึ้นค่าแรงกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าน้อยมาก เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ และได้มีมาตรการในการดูแลค่าครองชีพอยู่ หากต้นทุนไม่ปรับเพิ่มขึ้น ที่จะเป็นเหตุให้ขึ้นราคาสินค้าไม่เห็นควรที่จะต้องขึ้นราคา ทั้งนี้ หากพบขึ้นราคาไม่เป็นธรรม แจ้งมาที่ 1569 จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทันที”

ส่วนผลกระทบจากการลอยตัวน้ำตาล ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน ตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายในห้างค้าปลีก และร้านค้าทั่วไป พบว่าในขณะนี้ ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายลดลง ประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว รวมถึง ขนมต่างๆที่ให้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เป็นส่วนประกอบ ก็ขอความร่วมมือในการปรับราคาลงตามต้นทุน แต่หากไม่สามารถปรับลงราคาได้ ตามสต็อกและการผลิต ขอให้มีการจัดโปรโมชัน เพื่อช่วยลดภาระค่าของชีพ และคืนความสุขให้กับประชาชนด้วย แต่การปรับราคา หรือ โปรโมชัน เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับสต๊อกของผู้ประกอบการและการพิจารณาด้วย

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งปลีกไทย เปิดเผยว่า ในกลุ่มสินค้าปลีกค้าส่งมีการจ้างแรงงานที่แพงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐประกาศอยู่แล้ว โดยในขณะนี้จ่ายค่าจ้าง 350 บาทต่อวัน สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้กระทบ เนื่องจากใช้แรงงานไม่มาก จึงไม่มีผลต่อการปรับขึ้นราคา ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ยังไม่ได้แจ้งปรับขึ้นราคาเช่นกัน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ค่อยสูง กำลังซื้อจะขยายตัวเพียงเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ถือบัตรสวัสดิการเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการช่วยกระจายกำลังซื้อของผู้ที่มีบัตรสวัสดิการ สามารถเข้าไปซื้อสินค้าเอสเอ็มอีได้ เพราะเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับอัตราค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศอาจจำเป็นต้องปรับราคาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแรงงานที่ใช้ค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งการปรับค่าแรงใหม่ตรงกับช่วงผลผลิตออกมาก และมีการใช้งานแรงงานสูงซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรทันที นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งจะต้องมีหน่วยงานภาครัฐต้องช่วยเหลือต่อไปด้วย และต้องการให้เชิญกลุ่มผู้ประกอบการนต้นน้ำที่จะได้รับผลกระทบต่อค่าแรงร่วมหารือด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่หารือครั้งนี้เป็นปลายทาง