บิ๊กเกษตร เดินสาย4ภาคติวเข้มขรก. ประเดิมอุบลฯ เร่งล้างบัญชีเกษตรกรพ้นยากจน ภายในปี70

บิ๊กเกษตรเดินสาย4ภาคติวเข้ม ขรก.ประเดมลงจ.อุบลฯ เร่งล้างบัญชีเกษตรกรพ้นยากจนในปี70 “กฤษฎา” ฝาก 4 กฎเหล็กพลิกโฉมปฏิรูปภาคเกษตร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ร่วมประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อชี้แจงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งหารือร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ในการจัดหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ภาคเอกชน ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 670 คน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “มุ่งมั่นพัฒนา เกษตรกรรมก้าวหน้า นำพาสู่ความยั่งยืน” ว่า วันนี้เรามาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคเกษตรและของประเทศไทย หากเราต้องการผลลัพธ์ใหม่ ทีมกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำร่วมกันทำสิ่งใหม่ ปรับวิธีคิด วิธีทำงานกันใหม่อย่างไร้รอยต่อ แบ่งเป็น 4 สิ่งที่ “ต้อง” ทำ คือ 1.ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานให้มีมุมมองกว้างไกลกว่าในอดีตที่มองเพียงส่งเสริมการผลิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นนักวางแผนการเกษตรการผลิตให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของตลาดไม่ล้นตลาดเกินไป

2.ต้องรู้ลึก รู้จริง ทำได้จริง ลงพื้นที่จริง ให้ได้มากกว่าเกษตรกรหรืออย่างน้อยต้องรู้เท่าทันเกษตรกร 3.ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย และ 4.เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติ ทั้งหมดเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

5 ประเด็นสำคัญ คือ เกษตรกรไทยจะต้องหลุดพ้นจากความยากจนโดยจะมีรายได้มากกว่าในปัจจุบันอย่างน้อย 1 เท่าตัวภายในปี 2565 และภายในปี 2570 ครอบครัวเกษตรกรไทยในบัญชีคนยากจนจะหมดไป 2. ระบบสหกรณ์และวิสาหกิจการเกษตรต้องเข้มแข็ง สามารถปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกษตรกรไทยจะเข้าสู่ระบบสหกรณ์ทุกครัวเรือน 3.เกิดสังคมและชุมชนเกษตรกรไทยแบบพออยู่พอเพียงอย่างทั่วถึง 4.ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย 100 % ภายในปี 2565 และผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 60 % ภายในปี 2570 และ 5. ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นที่พึ่งของเกษตรกร

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลก GDP ภาคเกษตร = 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 6 % ของ GDP รวม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังยากจน หรือ ประมาณ 5.1 ล้านคน จากประชากรภาคเกษตร 23.59 ล้านคน และลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 3.9 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาหนี้สิน ขาดทุนไม่รู้ระบบการตลาด โครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรและตลาดปัจจัยการผลิตถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ระบบสหกรณ์ยังไม่เข็มแข็งพอ จำนวนมากขาดความเป็นมืออาชีพแต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตร เอาชนะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ดิน ฟ้า อากาศ เราควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้ ประกอบกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรแทนกำลังแรงงาน เทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาพันธุ์พืชที่มีลักษณะพิเศษเหนือธรรมชาติปกติ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ทีมกระทรวงเกษตรฯ ทั้งระดับอำนวยการและปฏิบัติการในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำโครงการที่ประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรค มาดำเนินการ “ต่อ + เติม + แต่ง” ขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการให้มากขึ้น “ปัญหาภาคเกษตรไทยที่ผ่านมา ไม่เพียงอยู่ที่นโยบายที่ผ่านมาหลายเรื่องไม่เหมาะสม แต่ยังมีปัญหาเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลด้วย ซึ่งตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะไม่เพียงจะช่วยทำงานในระดับนโยบายเท่านั้น แต่จะช่วยปลดล๊อคอุปสรรคทางปฏิบัติด้วย เพื่อให้การนำนโยบายไปดาเนินการได้บรรลุผล แต่ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้รับศรัทธาจากประชาชน ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องไม่ถูกเอาเปรียบหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจะเปลี่ยนผ่านปัญหาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นายกฤษฏา กล่าว

สำหรับการประชุมสัมมนา“การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดจัดการประชุมจำนวน 5 ครั้ง ในระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 61 ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 24 ม.ค.61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ในวันที่ 29 ม.ค.61 ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ในวันที่ 9 ก.พ.61 ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 21 ก.พ.61 ภาคใต้และชายแดนใต้ จ.สงขลา ในวันที่ 23 ก.พ.61 ส่วนประเด็นการแก้ไขปัญหายางพาราในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ร่วมกับประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2561 คิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 350,000 ตันเป็นการลดปริมาณยางพาราในตลาดโลกลงอย่างเฉียบพลัน

โดยทั้งสามประเทศจะใช้กฎหมายในการดำเนินการของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง อย่างกรณีประเทศไทย ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ.2561 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542และประเทศมาเลเซียจะดำเนินการภายใต้ Malaysia Rubber Board ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย และด้านประเทศอินโดนีเซียดำเนินการโดยGabungan Perusahaan Karet Indonesia Rubber Association of Indonesia: GAPKINDO ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ

ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีสัดส่วนในการควบคุมการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่ปลูกและผลิตของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจะลดสัดส่วนการส่งออกยางอยู่ที่ประมาณ 2.3 แสนตัน ทั้งสามประเทศจะดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กฎหมายในการควบคุมที่ใช้มาตรการดังกล่าวของแต่ละประเทศ นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกัน ทั้งประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศตนเองมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ด้านมาเลเซียนำร่องเป็นประเทศผู้ผลิตที่นำร่องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากขึ้น จนเป็นผู้นำด้านการส่งออกถุงมือยางของโลก

และทางรัฐบาลไทยมีนโยบายเร่งเร่งส่งเสริมนวัตกรรม และสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ มีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐที่ตอบรับนำยางพาราไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ถนนยางพารา สนามกีฬา บล็อกปูพื้น ปูสระน้ำ รวมถึงที่นอน และหมอนจากยางพารา เป็นต้น ตั้งเป้าการใช้ยางของหน่วยงานรัฐประมาณ 200,000 ตัน ในปี 2561 นี้

“ระหว่างการจำกัดลดส่งออกยาง ใน 3 เดือนนั้น (มกราคม-มีนาคม 2561) มีมาตรการออกมาผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในมาตรการต่างๆ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 2หมื่นล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ เป้าหมาย 2 แสนตัน โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ย้ำว่าบริษัทใดได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ขอให้แจ้งมาที่รัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะประสานกระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก พร้อมทั้งหาราคาต้นทุนที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่รับผลกระทบจากนโยบายลดการส่งออกด้วยทุกราย” นายกฤษฎา กล่าวย้ำ