กกร.ชี้น้ำท่วมเสียหาย 1 หมื่นล้าน มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี‘54

กกร.

กกร.ประเมินน้ำท่วมเสียหายหนัก 1 หมื่นล้าน “เกษตร-อุตสาหกรรม” ยังเอาอยู่ ไม่ซ้ำรอยปี‘54 มั่นใจจีดีพีไทยปี‘65 ยังโต 3.0-3.5% ชง สทนช. เลื่อน-ปรับสูตรเก็บค่าน้ำ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมา คาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง

เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ กระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ไม่กระทบข้าวนาปี ส่วนภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้ จึงยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ปี 2565 โต 3.0-3.5%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมองว่าสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถรับมือสถานการณ์ได้ไม่กระทบรุนแรงเท่ากับปี 2554 แน่นอน

“จากการที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขนาดนี้เขื่อนหลัก ๆ ยังมีความสามารถที่จะรองรับน้ำได้อีก 20% ของความจุ อีกทั้งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่มีประสบการณ์และมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีซึ่งคาดว่าจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แต่สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้น้ำรถลงโดยเร็วที่สุดซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ“

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหลังจากน้ำท่วมที่จะมีการซ่อมแซมบ้านเรือนทำให้เกิดความกังวลเรื่องภาวะหนี้นั้นเชื่อว่าทางสถาบันการเงินจะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นเคสบายเคสอยู่แล้ว

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. กล่าวว่า ยังได้มีการเตรียมข้อคิดเห็น เพื่อเสนอสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อพิจารณาเลื่อนระยะเวลาในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ หมวด 4


และเสนอให้หรือหากต้องเรียกเก็บให้ใช้อัตราค่าใช้น้ำเดิมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ใช้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นรอบปัจฉิม ควรระบุเงื่อนไขการเรียกเก็บให้ชัดเจน เช่น การรับน้ำจากผู้สูบจ่ายหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำ ผู้ที่รับน้ำไม่ควรชำระค่าน้ำซ้ำซ้อน และการใช้ที่ดินหรืองบประมาณของภาคเอกชนในการสร้างแหล่งเก็บน้ำ ไม่ควรต้องชำระเงินค่าน้ำให้กับภาครัฐ และกรณีที่ใช้น้ำเพื่อกิจกรรม CSR ให้กับภาคเกษตรและชุมชน หรือทำการเก็บกักน้ำในที่ดินเอกชนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย ควรยกเว้น หรือได้รับการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ