ปตท.สผ.กำไรเพิ่มขึ้น 60% รับผลดีราคาน้ำมัน การบริหารการผลิตและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจ่ายปันผล 4.25 บาทต่อหุ้น

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เผยผลประกอบการปี 2560 ด้วยกำไรสุทธิ 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 20,579 ล้านบาท) ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 จากปีก่อนหน้าถึงแม้จะมีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์เนื่องจากการปรับแผนการลงทุน ของโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์จำนวน 558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังรักษาระดับ EBITDA margin ที่ร้อยละ 70 สะท้อนความสำเร็จในการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมเร่งการพิจารณาตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) ใน 3 โครงการหลัก รวมถึงการเข้าประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุในอ่าวไทยและการเข้าซื้อกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง และการขยายการลงทุนในแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม และรักษาระดับการผลิต รวมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เผยว่าปี 2560 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,523 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 153,198 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 4,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 152,745 ล้านบาท) ในปี 2559 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 836 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันโลกจาก 35.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปีก่อนหน้าเป็น 39.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ลดลงจาก 30.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 29.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้รับผลกระทบจากความต้องการรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง แต่ด้วยความพยายามในการเพิ่มปริมาณการผลิตคอนเด็นเสทและน้ำมันดิบส่งผลให้สามารถรักษาปริมาณการขายตามเป้าหมายที่ 299,206 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดย ณ สิ้นปี 2560 ปตท.สผ. มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสดจำนวนสูงถึง 4,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 146,008 ล้านบาท)

จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2560 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกในอัตรา 1.50 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 2.75 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 และจะจ่ายในวันที่ 12 เมษายน 2561 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2561 แล้ว

“ผลการดำเนินงานในปี 2560 พิสูจน์ให้เห็นว่าภายใต้ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอุตสาหกรรม ปตท.สผ. มีความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและทำกำไรจากธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดย ปตท.สผ. ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในระยะยาวด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรให้เห็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่ชัดเจน ตอบสนองเป้าหมายความยั่งยืนของธุรกิจ เช่น การเพิ่มหน่วยงานธุรกิจใหม่ (New Business Unit) เพื่อมองหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาต่อยอดและการเพิ่มกลุ่มงานบริหารการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและองค์กร (Business and Organization Transformation Group) เพื่อสร้างวัฒนธรรมการปรับตัว ปรับระบบงาน ระบบข้อมูลให้ทันสมัย ทันต่อเวลา โดยนำ Digital Technology มาใช้ทั่วทั้งองค์กร เป็นต้น” นายสมพรกล่าว

ตั้งงบลงทุนปี 2561 ที่ 3,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย 3 โครงการหลัก

นายสมพรกล่าวว่า ปตท.สผ. ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ไว้ที่ 3,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 105,510 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 1,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 60,227 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 1,332 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 45,283 ล้านบาท) เพื่อรักษาระดับปริมาณการขายปิโตรเลียมของแหล่งผลิตในปัจจุบันไว้ที่ประมาณ 300,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยจะเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทให้มากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะคงต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) อยู่ในระดับประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพื่อให้แข่งขันได้

สำหรับแผนงานที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในปี 2561 ที่ต้องเร่งทำ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต คือการพัฒนาโครงการที่สำคัญเพื่อการตัดสินใจขั้นสุดท้าย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ตั้งเป้าการผลิตในปี 2566 ด้วยกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 12 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ได้เริ่มการเคลื่อนย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างของโครงการและอยู่ระหว่างการขออนุมัติแผนพัฒนา โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ อยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียโดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในไตรมาส1 ปี 2561 และโครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และ 52/97 ซึ่งมีเป้าหมายจะผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตรวม 490 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


“ในปีนี้ ปตท.สผ.จะร่วมประมูลสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุด้วยอย่างแน่นอน ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและปริมาณการผลิตให้กับบริษัท และเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันเรายังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง รวมถึงการมองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้ครบวงจรในประเทศที่เรามีความสามารถในการแข่งขันจากการที่เรามีฐานทางธุรกิจมาก่อน” นายสมพรกล่าว