เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เร่งตัดยอดน้ำเหนือ ทางลัดลงทะเลอ่าวไทย

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตัดยอดน้ำเหนือ ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลอ่าวไทยเป็นทางลัดให้รวดเร็วขึ้น พร้อมลงพื้นที่เพชรบูรณ์ร่วมนายกฯติดตามแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำป่าสัก 20 แห่ง เสริมความมั่นคงป้องกันท่วม กักเก็บหน้าแล้งในระยะยาวให้  จ.เพชรบูรณ์-ลพบุรี

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา

โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้บริหารจัดการน้ำเหนือโดยใช้ระบบชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

โดยเฉพาะประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นทางลัดในการระบายน้ำเหนือ จะช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนหนึ่งลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้รวดเร็วขึ้น

โดยจะเป็นการร่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตรเท่านั้น เพราะระยะทางจากปากคลองถึงปลายคลองของคลองลัดโพธิ์มีระยะสั้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่บริเวณนอกคันกั้นน้ำได้

สำหรับการบริหารจัดการน้ำของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ กรมชลประทาน จะเปิดบานระบายของประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างส่วนหนึ่งออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยในขณะนี้จะทำการระบายน้ำในช่วงที่น้ำทะเลลงเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่น้ำทะเลขึ้นระดับน้ำทางด้านท้ายน้ำยังสูงกว่าด้านน้ำเหนือ

โดยตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565-ปัจจุบัน มีการระบายน้ำออกสู่ทะเลแล้วทั้งสิ้น 1,589.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาในการรองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมาอีกในระยะต่อไป นอกจากนี้ เมื่อพ้นช่วงฤดูน้ำหลากแล้ว กรมชลประทานจะปิดบานระบายของประตูระบายน้ำ เพื่อชะลอน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำผ่านประตูระบายน้ำเข้าไปส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

ประยุทธ์ลงตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่เพชรบูรณ์
พล.อ.ประยุทธ์ลงตรวจพื้นที่น้ำท่วมที่เพชรบูรณ์

นายประพิศกล่าวอีกว่า หลังจากการลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ตำบลตาลเดี่ยว และในเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มสัก ว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุ “โนรู” ทำให้เกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีปริมาณน้ำป่าบางส่วนไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ

ปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักที่สถานี S.33 อำเภอหล่มเก่า และสถานี S.3 อำเภอหล่มสัก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 4 เครื่อง ในเขตอำเภอหล่มสัก เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เป็นลำดับต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอหล่มสัก ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ ความจุเก็บกัก 13.45 ล้าน ลบ.ม. โครงการเพิ่มศักยภาพอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 33 ล้าน ลบ.ม. เป็น 39 ล้าน ลบ.ม. และโครงการป้องกันอุทกภัยเมืองหล่มสัก ด้วยการสร้างคลองผันน้ำเหนือฝายฝั่งซ้ายแม่น้ำป่าสัก ซึ่งอยู่เหนืออำเภอหล่มสัก เพื่อเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายอำเภอหล่มสัก นอกจากนี้ ยังมีแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก จำนวน 20 แห่ง

เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยชะเอม อ่างเก็บน้ำห้วยชุนน้อย อ่างเก็บน้ำคลองน้ำทิน อ่างเก็บน้ำบ้านนางั่ว อ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านโตก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยซับสอง ส่วนอ่างเก็บน้ำอีก 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยบง อ่างเก็บน้ำเขาพังเหย อ่างเก็บน้ำบ้านปากช่อง อ่างเก็บน้ำบ้านธารทิพย์ อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยอีหม้อ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำยา อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโกย อ่างเก็บน้ำบ้านหินโง่น อ่างเก็บน้ำห้วยผักกูด อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเลา และอ่างเก็บน้ำชับมะนาว


หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 193 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับจังหวัดเพชรบูรณ์ และลพบุรีบางส่วน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างทั่วถึง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ