“ความเหลื่อมล้ำ-ใช้ทรัพยากรทางทะเลมากเกิน-อุบัติเหตุทางถนน”กับดักประเทศไทยไม่พัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet จัดงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Guide : How to Future Proof Your Business in the Name of a better World เพื่อเผยแพร่แนวความคิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนให้แก่กลุ่มองค์กรธุรกิจเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนต่างๆ โดยมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธษนคณะกรรมการที่ปรึกษาบรรณาธิการหนังสือฯ

โดยดร.ประสาร กล่าวถึงโลกภายใต้บริบทที่ท้าทายที่ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า แต่ละประเทศทั่วโลกนั้นพยายามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างประเทศด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม ที่เชื่อว่า “กลไกตลาด” จะสามารถช่วยจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางประเทศประสบความสำเร็จขยับฐานะจากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวย ประชาชนมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“แต่ธรรมชาติมักมี 2 ด้าน ระบบทุนนิยมที่สุดโต่งที่ขาดการถ่วงดุลด้วยจริยธรรมนั้นทำทำให้วิสัยทัศน์บิดเบี้ยว คือการสร้างความเจริญเติบโตในแง่ของปริมาณมากกว่าคุณภาพ ตัดสินใจด้วยมุมมองระยะสั้น สิ่งเหล่านี้จึงสร้างปัญหาในหลายมิติจนกล่าวได้ว่า โลกที่เราอยู่นั้นไม่มีความยั่งยืน” ดร.ประสารกล่าวและว่า โลกที่ไม่ยั่งยืนนั้นมี 4 กลุ่มสำคัญคือ 4P กล่าวคือ

P แรกคือ Planet การที่คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบละเลย เหมือนของฟรี ละเลยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทำประมงเกินขนาด และการปล่อยสารพิษต่างๆจนนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมของโลก

“สิ่งที่น่าตกจัยคือการศึกษาของ World Economic Forum ชี้ชัดว่าในปีค.ศ.2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า น้ำหนักพลาสติกในทะเลจะเท่ากับน้ำหนักปลาทั้งหมดในทะเล และประเทศไทยเองติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก”

ต่อมาคือ Prosperity ความรุ่งเรืองในหลายด้านที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ในอีกมุมก็ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ถัดไปคือ People ประชากรจำนวนมากเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิตที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของชีวิตทั้งการศึกษา สุขภาพ อาหาร และสุดท้ายคือ Peace ความขัดแย้งของปัญหาทางรัฐศาตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังกล่าวถึงมุมมองของประเทศไทยเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า จากการจัดอันดับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาตินั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จาก 157 ประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เพราะมีบางเรื่องที่ไทยทำได้ดี อย่างการเร่งขจัดความยากจน ความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงการตื่นตัวต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง อาทิ เรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ไทยติดอยู่อันดับ 3 ของโลก การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่คิดถึงวันข้างหน้า รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างเรื่องการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

“ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า หากภายใน 20 ปี ไทยสามารถลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้ลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น 9 เปอร์เซ็นต์”

สำหรับภาคธุรกิจที่หันมาให้ความใส่ใจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มาจากปัจจัยสำคัญ 2 อย่างคือ ทิศทางการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นทั้งเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ส่วนอีกเรื่องนั้นคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้สังคมโลกนั้นเล็กลง เมื่อเกิดปัญหาความผิดพลาด ก็ทำให้เป็นข่าวได้รู้ถึงกันทั่วโลก

ทั้งนี้แม้ว่าปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ ที่มีข้อจำกัดในด้านโครงสร้าง กฎระเบียบ และบุคลากร ในขณะที่ภาคธุรกิจมีความพร้อมที่มากกว่าจึงทำให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

“…การทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้านั้น การทำธุรกิจให้มีกำไรอย่างเดียวไม่พอ แต่จำเป็ฯต้องทำหน้าที่เพื่อสังคม และถ้าภาคธุรกิจไม่ช่วยสังคม ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเช่นกัน” ดร.ประสาร ยกตัวอย่างแนวคิดของแลร์รี ฟินค์ ซีอีโอบริษัทจัดการกองทุนแบล็กร็อกที่ได้เขียนจดหมายดังกล่าวไปยังผู้บริหารที่บริษัทได้ไปลงทุนร่วม

ทั้งนี้ดร.ประสารยังได้ยกตัวอย่างของกลุ่มองค์กรที่มีการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาสังคมให้อย่างยั่งยืนอาทิ บริษัทยูนิลีเวอร์ ที่เป็ฯบริษัทผู้ผลิตสินค้าอันดับต้นๆของโลก มีเป้าหมายเกี่ยวกับเรื่องการลดการตัดไม้ทำลายป่า จึงไม่รับซื้อน้ำมันปาล์มที่มาจากสวนปาล์มที่บุรุกป่า

ขณะที่ของประเทศไทยนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเอสซีจี ที่ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรอย่างยั่งยืน และชีวาสรม รีสอร์ทเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยออกแบบโรงแรมให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ซึ่งตั้งเป้ามีสาขาไม่เกิน 6 สาขาทั่วโลก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับทั้งประชาชน และทรัพยากรสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

อนึ่งหนังสือ Thailand’s Sustainable Guide : How to Future Proof Your Business in the Name of a better World เรียบเรียงโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วนสำคัญคือ

ภาพรวมของธุรกิจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำหลักปรัชญาเศรษบกิจพอเพียงมาปรับใช้กับภาคธุรกิจ


ส่วนต่อมาคือ การนำไปปรับประยุกต์ใช้ และส่วนสุดท้ายคือแนวทางในการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปแก้ไขปัญหาความท้าทายตามประเภทธุรกิจ และยังมีกรณีศึกษาจากองค์กรธุรกิจประเภทต่างๆจำนวน 57 องค์กรด้วย