ไทยแชมป์นำเข้าวัตถุดิบ ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า จับมือทั่วโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า

ไทยจับมือทั่วโลกผลักดันอุตสาหกรรมปลาทูน่าสู่ความยั่งยืน พร้อมต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย IUU-Free Thailand ชูมาตรการ PSMA ตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำก่อนได้นับอนุญาต ชี้ไทยยังรั้งเเชมป์นำเข้าวัตถุดิบ ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวหลังเปิดงานจัดเเสดงสินค้า “ทูน่าโลก ครั้งที่ 17” (The Seventeenth INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition) หรือ “TUNA 2022” โดยกรมประมงร่วมกับ INFOFISH ซึ่งปีนี้ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ

ว่าในปี 2564 มีรายงานจาก Global Tuna Production and Trade ปัจจุบันปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของโลกมีจำนวนมากถึง 2.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 317,800 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยนั้นมีปริมาณการนำเข้าประมาณ 720,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณการนำเข้าของโลก และมีปริมาณการส่งออกประมาณ 495,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของปริมาณการส่งออกของโลก

ด้านอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่แปรรูปแล้วไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 68,145 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก

สำหรับด้านการค้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าและทรัพยากรปลาทูน่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของปลาทูน่าต่อระบบเศรษฐกิจโลกและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึง การสนับสนุนการจัดการประชากรปลาทูน่าร่วมกัน

โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรจัดการประมงปลาทูน่าระดับภูมิภาค (Tuna-Regional Fisheries Management Organisations: T-RFMOs) อาทิ การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกการจัดการทรัพยากรประมงปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) และความร่วมมือด้านการประมงในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (Western and Central Pacific Fisheries Commission: WCPFC) ตลอดจนการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐเจ้าของธง (flag state) รัฐเจ้าของท่า (port state) และรัฐชายฝั่ง (coastal state)

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคี ความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSMA) เมื่อปี 2559 เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลในการนำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

โดยถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อน การปฏิรูปภาคประมงของประเทศให้ไปสู่การเป็นประเทศที่ปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU-Free Thailand) ปัจจุบันประเทศไทยได้นำมาตรการ PSMA มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำก่อนที่จะอนุญาตนำเข้าประเทศ โดยการนำมาตรการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) มาใช้ร่วมกับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Traceability) เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย

ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าและทรัพยากรปลาทูน่า รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ถูกสุขอนามัยและได้มาตรฐานสากล เพื่อให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนภายใต้ SDG 14

“ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาทูน่าในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปลาทูน่าอย่างรอบด้าน อาทิ ความรู้ ทางวิชาการ สภาวะทรัพยากรปลาทูน่าทั่วโลก การบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ การค้าและการตลาด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค ในเชิงธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในงาน อันจะยังประโยชน์ให้นําไปสู่การปรับตัว และสร้างความเข้าใจร่วมกันของอุตสาหกรรมปลาทูน่า รวมไปถึงเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลก”

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2565 นี้ ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ การเสริมสร้างความยืดหยุ่น การปรับตัว และการเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก” (Strengthening Resilience, Adaptability and Sustainable Growth in the Global Tuna Industry)
เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจากภาคอุตสาหกรรม ปลาทูน่าทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ

ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาทางธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่า ส่งเสริมการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายในระดับภูมิภาค โดยวันนี้ (11 ต.ค. 65) นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน

อย่างไรก็ดี การประชุมและจัดแสดงสินค้าปลาทูน่าโลกประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมมาแล้ว 9 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีห่วงโซ่คุณค่าทางการค้าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก