Re-design เศรษฐกิจไทยต้องเติบโตอย่างยั่งยืน

ในการเสวนา “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2561 ครั้งที่ 40 โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 โดยมี รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน สะท้อนว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ มีการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการพัฒนานำนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งอำนาจทางเศรษฐกิจถ่ายโอนมาสู่ทางเอเชียมากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง และยั่งยืนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ อาจจะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งออกของประเทศ ไม่ได้มองเพียงเป้าหมายว่าต้องเติบโตเท่าไร แต่ต้องมองถึงความยั่งยืนในระยะยาว และให้ความสำคัญในประเด็นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ

ส่งออกไทยกระจุก-ไม่มีสินค้าใหม่

ในการสัมมนาหัวข้อ “พลวัตการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการวิจัยว่า ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี และส่วนใหญ่ฐานการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยมาจากนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก โอกาสที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนลดการพึ่งพิงการส่งออก หันมาให้ความสำคัญภายในประเทศอาจเป็นไปได้ยาก

หากวิเคราะห์ถึงโครงสร้างสินค้าหลักเพื่อการส่งออกไทยพบว่า มีการกระจุกตัวเพียงไม่กี่กลุ่ม คือ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ แม้จะมีสินค้าการส่งออกกระจายออกไปเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เพราะการกระจายยังกระจุกในกลุ่มเดิม เมื่อเทียบกับจีน เกาหลีใต้ เวียดนามแล้ว ศักยภาพด้านการกระจายสินค้ามากกว่าไทย

แม้ว่าไทยจะสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยไว้ในระดับทรงตัว แต่กระจุกในตลาดเดิม ส่วนการขยายไปยังตลาดใหม่ยังทำได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งไม่เพียงจะรักษาตลาดเดิมไว้ได้ แต่ยังสามารถขยายตลาดสินค้าใหม่เข้าไปได้เพิ่มเติม

ส่วนไทยยังขยายตลาดสินค้าใหม่ยาก สำหรับสินค้าที่ยังฉุดการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแช่เย็นแช่แข็ง อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมที่เติบโต คือ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งกลุ่มนี้มีการส่งออกขยายตัวเฉพาะด้านปริมาณมากกว่าด้านราคา เมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มีการพัฒนามูลค่าจากการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น แม้ความเสี่ยงจะสูง หรือใช้ระยะเวลานาน แต่ไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนา ขณะที่การเจาะตลาดใหม่ สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ต้องย้อนมาดูว่านโยบายผลักดันในการทำตลาด หรือเจาะตลาดนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ การโรดโชว์มีความต่อเนื่องขยายตลาดได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความสำคัญ

สอดคล้องกับ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านนโยบายการเงินที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยไม่ได้มีการเพิ่มสินค้าส่งออกใหม่เข้าไป แม้จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่สินค้าส่งออกยังเป็นสินค้าเดิม มีผลทำให้สินค้าส่งออกในภาพรวมของไทยยังเป็นสินค้าเดิม ๆ เช่น สินค้าเกษตร ข้าว น้ำตาล ยางพารา เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

บริการไม่พร้อมขับเคลื่อน ศก.

นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอผลวิจัยหัวข้อ “ภาคบริการของไทยกับบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” กล่าวว่า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีการส่งออกภาคบริการด้วย ส่งผลให้แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น เพราะเรื่องของผลตอบแทน และโอกาสการเติบโตสูงกว่า ส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังมีจำนวนคงที่

“แต่สิ่งที่ต้องกลับมามองว่า ภาคบริการพร้อมที่จะเป็นกองหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในขณะที่ภาคเกษตร อุตสาหกรรมที่กำลังเจอปัญหาได้จริงหรือไม่ ยังมองว่าภาคบริการเป็นกลไกขับเคลื่อนยังช้า แม้จะสร้างรายได้ให้มาก แต่ไทยมีการพัฒนาภาคบริการมากน้อยเพียงใด มีการนำเทคโนโลยีช่องทางการค้าขายระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ดำเนินการเต็มประสิทธิภาพหรือยัง หากต้องการใช้ภาคบริการมาเป็นกองหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบาย หรือกฎระเบียบเพื่อสอดรับกันหรือไม่”

นายณัฐ ธารพานิช ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาคบริการในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเป็นกองหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กฎระเบียบด้านภาคบริการยังมีความซับซ้อน จึงมองว่าไทยจะต้องยกระดับและพัฒนา เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดรับกับรูปแบบการค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงนำดิจิทัลมาใช้ในการค้าและการส่งออก ตามยุทธศาสตร์ 4.0 โดยจะต้องพัฒนาแรงงานให้ก้าวทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ

ทิ้งท้ายกับ นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยช่องว่างทักษะกับนัยที่มีต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยว่า การเพิ่มจำนวนแรงงานทักษะ หรือแรงงานฝีมือให้มีความเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ

แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติม คือ ปัญหาช่องว่างของทักษะ โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ และความมีวินัยในการทำงาน ซึ่งพบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ 2.5 เห็นช่องว่างของทักษะแรงงานได้ชัดมากขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท แต่แรงงานยังไม่สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ นี่คือสิ่งที่สะท้อนและประเทศไทยต้องพัฒนาเพิ่มเติม

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์