“กกพ.”รื้อกม.พลังงานเพิ่มอำนาจดูแลท่อน้ำมัน-LNG

กกพ.ปรับปรุงกฎหมายพลังงาน2 ฉบับ รวบธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-ท่อส่งน้ำมันมากำกับดูแล ด้านไฟฟ้าลดขนาดกำลังผลิตไฟที่ 200 กิโลวัตต์แอมแปร์ต้องขอใบอนุญาต

ภาพรวมของความต้องการและการผลิตไฟฟ้าของประเทศเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่แม้แต่บนหลังคาบ้านเรือนก็สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ แต่ในแง่ของการกำกับดูแลกฎหมายด้านพลังงานไม่ได้ครอบคลุมถึงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ 1) พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และ 2) พระราชกฤษฎีกาการกำหนดประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงาน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2552 ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวในจังหวัดขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนไป สาระสำคัญหลัก ๆ ที่ได้ดำเนินการแก้ไขนั้นคือ การเพิ่มการกำกับดูแลกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะครอบคลุมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ที่ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังลงทุนขยายท่อน้ำมัน 2 เส้นใหม่ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่ง กกพ.จะดูแลตั้งแต่ระบบท่อที่ใช้ในการรับส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงกลั่นน้ำมันไปยังคลังน้ำมันจนถึงจุดซื้อขาย รวมถึงอุปกรณ์หรืออื่น ๆ ที่จำเป็นในการรับและส่งน้ำมัน นอกจากนี้ยังแก้ไขการกำกับดูแลธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยเพิ่มเติมให้ดูแลระบบสถานีรับก๊าซ เพราะปัจจุบันมีโครงการ LNG Receiving Terminal หรือท่าเรือและคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอนาคตจะต้องเปิดเสรีเพื่อให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ระบบท่าเรือและคลังของ ปตท. ทั้งนี้ยังรวมถึงการกำหนดอัตราค่าผ่านท่อด้วย ฯลฯ

เปิดรับฟังไอเดีย – กกพ.นำร่างกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ 2 ฉบับ มาเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในรายละเอียดได้เพิ่มอำนาจดูแลท่อส่งน้ำมัน และธุรกิจก๊าซ LNG ที่ ก.พลังงานมีนโยบายเปิดเสรี

ในขณะที่พระราชกฤษฎีกาการกำหนดประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานนั้น สาระสำคัญที่ได้แก้ไขคือ จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์แอมแปร์ (กรณีจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ) จะต้องยื่นขอรับใบอนุญาต เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตไฟที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 200 กิโลวัตต์แอมแปร์ขึ้นไป จะต้องยื่นขอใบอนุญาต โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถขอใบอนุญาตได้ที่สำนักงานสาขาของ กกพ.ในแต่ละจังหวัดได้ ซึ่งให้บริการแบบ “one stop service” ลดขั้นตอนจากเดิมที่ต้องแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกไป

“เดิมทีเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงมีกรมธุรกิจพลังงานกำกับดูแล แต่เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ต้องการให้ กกพ.เข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะในส่วนของท่อส่งน้ำมัน ในขณะที่เรื่องสเป็กน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันก็ยังเป็นหน้าที่ของกรมธุรกิจพลังงาน ส่วนเรื่องไฟฟ้าที่ลดขนาดกำลังผลิตติดตั้งลงมานั้นเพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง”

นายวีรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเปิดรับฟังความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดนำเสนอต่อ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา หลังจากนั้นนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณะกรรมการกฤษฎีกา และประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์