ปิโตรเลียม-เหมืองแร่ระส่ำหนัก ส.ป.ก.โขกค่าเช่าที่4หมื่นบ./ไร่

สำรวจผลิตปิโตรเลียมยันเหมืองแร่ระส่ำหนัก ส.ป.ก.คิดค่าเช่าสุดโหดไร่ละ 40,000 บาท/ปี อัตราก้าวหน้าขึ้นทุก 3 ปี ผู้เช่าทั้งเก่า-ใหม่เดือดร้อนหนัก “ปตท.สผ.สยาม” รายเดียวใช้ที่ 500 ไร่ ต้องจ่ายค่าเช่าสูงลิ่ว 20 ล้านบาท/ปี กระทบพื้นที่เปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ทำต้นทุนพุ่ง หวั่นผู้รับสัมปทาน 4 ราย นักลงทุนต่างประเทศชะลอลงทุน ชงรัฐบาลเร่งแก้เบ็ดเสร็จ

หลังจากที่ศาลปกครองกลางสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบการใช้ที่ดินปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่ดิน ส.ป.ก.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โดยคำสั่งศาลครอบคลุมถึงกิจการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน, เหมืองแร่ จนถึงพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม 4 แหล่งบนบกที่ต้องหยุดการผลิตลงทันที ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตัดสินใจใช้มาตรา 44 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ

โดยสาระสำคัญของคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ก็คือ ให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ที่ร้อยละ 1 นอกเหนือจากการเกษตรได้ พร้อมทั้งให้ ส.ป.ก.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและพิจารณาให้ใช้ที่ดิน และต้องสอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจที่สุดคือ การกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดิน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในอนาคต

อัตราค่าเช่าที่ ส.ป.ก.แพงลิบลิ่ว 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีการหารือร่วมกันระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อแก้ปัญหาการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ในกิจการด้านพลังงาน คาดว่าร่างระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการใช้และการกำหนดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จะระบุอัตราค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.ไว้สูงถึง 40,000 บาท/ไร่/ปี โดยค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.จะปรับเพิ่มขึ้นทุก 3 ปีประมาณ 4,000 บาท

นอกจากนี้ในกรณีที่มีการสำรวจใช้พื้นที่ใต้ดินก็จะจัดเก็บครั้งเดียวที่อัตราร้อยละ 5 ของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ คำนวณรวมกับขนาดพื้นที่และระยะเวลาการสำรวจ ส่วนในกรณีที่ขอใช้ที่ดินแล้วพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถทำการเกษตรได้ จะเรียกเก็บครั้งเดียวเท่ากับอัตราตอบแทนการใช้ที่คำนวณรวมกับขนาดที่ดินและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต และผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะต้องเสีย “ค่าปรับ” จากการละเมิดเข้าใช้พื้นที่โดยนับจากวันที่ได้เริ่มผลิตปิโตรเลียม

“ในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอให้ลดค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.ลง 50% ของอัตราที่กำหนดไว้ เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมบนบกมีปริมาณไม่มากนัก และอาจจะส่งผลให้ผู้รับสัมปทานอาจจะชะลอการลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลที่ไม่น่าจะมีการลงทุนเพิ่ม” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดิน มีระเบียบอัตราตามเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสมทุกกิจการ ทั้งด้านพลังงานการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม กิจการไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงกิจการด้านเหมืองแร่นั้น “ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” รวมถึงต้องสอบถามความเห็นจากภาคเอกชนเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดจะอยู่ในกรอบเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน กล่าวคือ จะต้องพิจารณาภายใน 60 วันนับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ที่มีประกาศใช้กฎกระทรวงข้างต้นบังคับใช้ โดยในส่วนผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจไปก่อนแล้วนั้น ให้ยื่นขออนุญาตต่อเช่นกัน โดยขั้นตอนจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ก่อน แล้วนำส่งมายังส่วนกลางจึงสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก.ต่อไปได้

“ราคาอัตราค่าเช่าอยู่ในระเบียบชัดเจนอยู่แล้ว ทุกกิจการมีระเบียบชัด เพียงแต่ว่า การจะขอใช้อยู่ที่การพิจารณาจากส่วนของ คปจ.ก่อน จังหวัดจะเป็นผู้ทราบรายละเอียดทั้งหมดก่อน แล้วจึงส่งมาให้ ส.ป.ก.ส่วนกลาง” นายสุรจิตต์กล่าว

ส่วนนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ตามที่ ส.ป.ก.ได้เตรียมประกาศหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.นั้น ในเบื้องต้นยังไม่มีการหารือในรายละเอียดร่วมกัน แต่ปัจจุบันค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีการจัดเก็บสำหรับเหมืองแร่อยู่ที่ร้อยละ 4 ของมูลค่าผลผลิตแร่ที่ผลิตได้ ซึ่งแร่แต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไป

ปตท.สยามอ่วมจ่าย 20 ล้าน

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ประกอบการได้เกิดความกังวลใน 2 ประเด็นคือ 1) อัตราค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก.สูงมาก อาจส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนเพื่อขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่ม อีกทั้งแหล่งผลิตปิโตรเลียมบนบกมีขนาดเล็กและมีต้นทุนสูงอยู่แล้ว ในขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังอยู่ระดับต่ำเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น และเมื่อพิจารณาจากผู้รับสัมปทานทั้ง 4 รายที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานแหล่งสิริกิติ์, บริษัทซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) ผู้รับสัมปทานแหล่งบึงหญ้า-บึงม่วง, บริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) ผู้รับสัมปทานแหล่งวิเชียรบุรี และกลุ่มบริษัทอพิโก้ ผู้รับสัมปทานแหล่งดงมูล

เมื่อคำนวณจากการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในปัจจุบันจะพบว่า บริษัท ปตท.สผ.สยาม มีการใช้พื้นที่ราว 500 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. เท่ากับว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังต้องเตรียมจ่าย “ค่าปรับย้อนหลัง” จากการเข้าใช้พื้นที่โดยไม่ขออนุญาตอีกราว 20 ล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) อีกด้วย

และ 2) การแก้ปัญหาครั้งนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมที่กรมเชื้อเพลิงฯเตรียมจะนำมาเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 21) โดยตามแผนระบุจะมีแปลงปิโตรเลียมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ประกอบด้วย แปลง L2/57 จนถึง L22/57 รวมทั้งสิ้น 21 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, อุบลราชธานี, ชัยภูมิ, นครพนม ฯลฯ โดยมองว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์