ทัพธุรกิจญี่ปุ่นดาหน้าลงทุนไทย “สมคิด”โรดโชว์รอบใหม่ดึงSME

นักลงทุนญี่ปุ่นดาหน้าบุกไทยไม่หยุด บีโอไอสุดปลื้ม ย้ำตัวเลขลงทุน เบอร์ 1 ต่อเนื่อง เผยมีตั้งแต่ร้านอาหาร ร.ร.สอนภาษา ชิ้นส่วนยานยนต์ ยันบริษัทรับสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ “สมคิด” ชี้โรดโชว์ได้ผล ต้นกุมภาฯนำทีมดึงนักธุรกิจ “ฟุกูโอกะ” อีกระลอก หวังจับคู่เอสเอ็มอี “เจโทร” ชี้เทรนด์อสังหาฯ-ผู้สูงอายุ มาแรง

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีสูงถึง 641,978 ล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขอรับการลงทุนในเขตพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี 696,889 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลค่าการขอรับการลงทุนทั้งหมด

โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 256 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 133,002 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศ (282,643 ล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ ประมาณ 61,200 ล้านบาท

อันดับสอง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก 37,000 ล้านบาท อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 22,200 ล้านบาท

ส่วนอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ 40,366 ล้านบาท 3 จีน 27,514 ล้านบาท 4 อเมริกา 20,022 ล้านบาท 5 เนเธอร์แลนด์ 15,842 ล้านบาท

ต้นกุมภาฯ “สมคิด” โรดโชว์อีก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ผลจากการเดินทางไปโรดโชว์ประเทศญี่ปุ่นและจีนช่วงที่ผ่านมามีผลต่อการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นมหาศาล และทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างมาก ซึ่งในอดีตถ้าไปตามครรลองปกติจะไม่สามารถดึงนักลงทุนญี่ปุ่นให้มาลงทุนในไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นการโรดโชว์ทำให้เกิด impact ซึ่งการที่ตนเดินทางไปร่วมประชุมเจโทรและการสัมมนา “นิเคอิ ฟอรัม” มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก

การเดินทางไปโรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งต่อไปในช่วงวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2561 รูปแบบจะไม่เหมือนเดิมแต่จะเน้นเจาะเจรจาธุรกิจระดับเมืองต่อเมือง เพราะฉะนั้นการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้จะไปพบกับนักธุรกิจเอกชนฟุกูโอกะ เพื่อในอนาคตจะทำให้นักธุรกิจฟุกูโอกะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

“สาเหตุที่เลือกไปเมืองฟุกูโอกะ เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมไฮเทคจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเพื่อให้เข้ามาจับคู่กับเอสเอ็มอีไทย เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นมากันครบหมดแล้ว ขณะนี้จึงต้องการผู้ประกอบการขนาดกลางของญี่ปุ่นให้เข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทยต่อไป” นายสมคิดย้ำ

รายเล็ก-ใหญ่แห่ลงทุนเพียบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากการลงทุนผ่านบีโอไอดังกล่าว ยังมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นจำนวนมากที่ทยอยเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นการเข้ามาลงทุนในนามบุคคล ที่ส่วนใหญ่เข้ามาทำธุรกิจ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม โรงเรียนสอนภาษา ส่วนการลงทุนของบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ มีทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ขยายการลงทุนเข้ามา

จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ล่าสุดบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลาย ๆ บริษัทได้ทยอยเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเพิ่ม อาทิ โตโยต้า แมททีเรียล แฮนด์ลิ่ง กรุ๊ป ผู้ผลิตและให้บริการรถโฟร์กลิฟต์, ฮิตาชิ คอนสตรักชั่น แมชีนเนอรี่ ผู้ให้บริการเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง, ไดกิ้น เคมีคอล ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ, ซูมิโตโม ริโกะ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า, โคโนอิเกะ ทรานส์สปอร์ต ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้า, แบนโด เคมิคอล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, เซกิกุย เคมิคอล ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก, โคเบลโก้ บริษัทในกลุ่มโกเบ สตีล กรุ๊ป, ฮิตซ์ บริษัทในเครือฮิตาชิ โซเซน บริษัทรับสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นต้น

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธาน บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทได้จับมือกับบริษัท วาย-เทค คอร์ปอเรชั่น พันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น และจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ไทยซัมมิท วาย-เทค โอโตพาร์ท จำกัด ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท เพื่อออกแบบ พัฒนา ผลิต ทำการตลาด และขายชิ้นส่วนยานยนต์แบบขึ้นรูปที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยกลุ่มไทยซัมมิท ถือหุ้น 51% และวาย-เทค คอร์ปอเรชั่น 49% มีแผนจะลงทุนเพื่อสร้างโรงงานในอีก 2-3 ปี

ขณะที่สำนักข่าวนิกเคอิ ประเทศญี่ปุ่น รายงานเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และพันธมิตร อิโตแฮม โยเนคิว โฮลดิ้ง อิงค์ จากญี่ปุ่น ได้จับมือกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของไทย ลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปไก่ที่จังหวัดสระบุรี ในนามของบริษัท เอเชี่ยน เบสท์ ชิคเก้น จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,833 ล้านบาท มิตซูบิชิ ถือหุ้น 50% เบทาโกร 25% และอิโตแฮม 25% โรงงานแห่งนี้จะมีกำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี สำหรับป้อนให้กับธุรกิจอาหารในญี่ปุ่น

อสังหาฯ-ผู้สูงอายุธุรกิจมาแรง

องค์การส่งเสริมการค้าการลงทุนของญี่ปุ่น หรือเจโทร สำนักงานกรุงเทพฯ ได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า อุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจจะลงทุนเพิ่มและมองว่ามีโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายโทชิฮิโกะ อาโอยากิ ประธานบริษัท Kyushu Railway Company (JR Kyushu) ผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เผยแผนร่วมทุนกับบริษัทในไทย ตั้งบริษัท Thai JR Kyushu Capital Management เพื่อสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เจาะตลาดคนญี่ปุ่นที่ทำงานในไทย

ด้านนายมาซามิ คิตะมูระ รองประธาน LongLife Holding Co.,Ltd. ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสังคมผู้สูงอายุ กล่าวว่า อยู่ระหว่างมองหาพาร์ตเนอร์ร่วมทุนในไทยเพื่อขยายธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงวัย เนื่องจากมองว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงทำให้ธุรกิจประเภทนี้มีโอกาสมาก

สอดคล้องกับนายมาซารุ ทาคายามะ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมการค้าการท่องเที่ยวเครือข่ายเชิงนิเวศ (Association of Asia Ecotourism Network : AEN) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ให้ความเห็นว่า ไทยมีศักยภาพมากในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านสำหรับวัยเกษียณ เนื่องจากบริการทางการแพทย์ของไทยที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานสูง ประกอบกับไทยมีสภาพอากาศอบอุ่นที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และค่าครองชีพไม่สูง

JETRO ย้ำลงทุนต่อ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 12-13 กันยายนที่ผ่านมาทาง องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ได้รายงานถึงผลการเยือนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ JETRO ยังเตรียมรายงานผลการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยของปี 2560 เบื้องต้นพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยและมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนสูงขึ้นมากกว่า 50%

“ที่ญี่ปุ่นเขามั่นใจลงทุนต่อเพราะบรรยากาศในประเทศไทย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกเริ่มปรับตัวดีขึ้น การทำธุรกิจดีขึ้น นโยบายและแผนลงทุนของรัฐบาลไทยชัดเจน”

ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงคาดการณ์ว่า ในครึ่งปีแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2560) กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นจะยังคงลงทุนต่อไปในประเทศไทย และในเดือนพฤษภาคม ทาง METI ร่วมกับ JETRO จะจัดการประชุมกับทางรัฐบาลไทยขึ้นอีกครั้งเพื่อเดินหน้าทำแผนความร่วมมืออื่น ๆ ในเรื่องของการพัฒนาให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ของไทยตามนโยบาย connecter industry 4.0

“แพลตฟอร์ม T-Goodtech หรือ ระบบเชื่อมโยงธุรกิจและผู้ประกอบการไทยเพื่อช่วยในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (B2B) จะเริ่มใช้ในไตรมาส 2/2561 โดยเด็นโซ่ จะใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ให้ SMEs เรียนรู้ ขณะที่ฮิตาชิจะสร้างโรงงานต้นแบบ 4.0 ในพื้นที่ EEC และจะขยายผลและเพิ่มความช่วยเหลือเข้าไปอีก” นายอุตตมกล่าว

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์