กรมเจรจาฯ เตรียมลงพื้นที่ จ.เชียงรายพบเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟภาคเหนือ ชี้โอกาสกาแฟไทยในโลกการค้าเสรี

 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงานสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ ชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA และเตรียมพร้อมรับมือการเปิดตลาดเสรีในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาคมกาแฟไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น เตรียมจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อให้ข้อมูลและหารือช่องทางการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับสินค้ากาแฟภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยทำจัดทำไว้กับประเทศคู่ค้า รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีสินค้ากาแฟภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ในปี 2563 โดยจะลงพื้นที่ครั้งแรกในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 1 – 2 กุมภาพันธ์ 2561

ทั้งนี้ภายใต้ความตกลง FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ รวม 12 ฉบับ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากาแฟที่สำคัญ อาทิ การเปิดเสรีของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้น เมียนมาเปิดเสรีสินค้ากาแฟให้ไทยแล้วโดยเก็บภาษีนำเข้าเป็น 0 ในขณะที่เมียนมายังเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่วที่ร้อยละ 5 สำหรับไทยเองก็ได้เปิดเสรีผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟสำเร็จรูป กาแฟ 3 in 1 โดยลดภาษีเป็น 0 ให้ประเทศอาเซียนอื่นแล้วตั้งแต่ปี 2553 ยกเว้นเมล็ดกาแฟที่ไทยยังเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศอาเซียนอื่นที่ร้อยละ 5

 

 

สำหรับความตกลง FTA อาเซียน – จีน จีนได้ลดภาษีศุลกากรสินค้ากาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟให้ไทยเหลือ 0 แล้ว ยกเว้นเมล็ดกาแฟดิบที่จีนยังเก็บภาษีศุลกาการกับไทยร้อยละ 5

ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นจากการที่ไทยมี FTA กับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟไปยังประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้น เช่น ลาว (ปี 2560 ไทยส่งออก 8,229 ตัน) และจีน (ปี 2560 ไทยส่งออก 5,054 ตัน) เป็นต้น โดยมีมูลค่าส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 และจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4,783 นับจากการเปิดเสรีในปี 2553

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง FTA ไทย – ออสเตรเลีย ไทยจะต้องลดภาษีศุลกากรสินค้าเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟเป็น 0 ให้กับออสเตรเลียในปี 2563 ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟของไทยได้ทราบข้อมูล การเปิดเสรีภายใต้ความตกลง FTA ต่างๆ ของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงมีกำหนดลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมและแนะนำช่องทางการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าว

โดยในการสัมมนาครั้งนี้ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟตลอดห่วงโซ่มูลค่าเข้าร่วม ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ผู้ประกอบการ ตลอดจนถึงผู้ส่งออก เป็นต้น เพื่อหารือเรื่องโอกาสและการเตรียมการรับมือการเปิดเสรี โดยเฉพาะความตกลง FTA ไทย – ออสเตรเลีย ที่จะปลอดภาษีนำเข้าในปี 2563 ขณะเดียวกันก็จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและอัตลักษณ์ของกาแฟไทยซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา สมาคมกาแฟไทย ผู้ผลิตกาแฟท้องถิ่น ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นวิทยากร

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 250,000 ไร่ทั่วประเทศ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยผลิตภัณฑ์กาแฟส่วนใหญ่ที่ส่งออกเช่น กาแฟ 3 in 1 และกาแฟสำเร็จรูป ไปยังประเทศในอาเซียน เช่น เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์ และเนื่องจากปัจจุบันการบริโภคกาแฟของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมกาแฟไทยก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน พิจารณาจากความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยในปี 2560 ที่สูงกว่า 90,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากปี 2557 ขณะที่ไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ 25,000 ตันต่อปี จึงมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟประมาณ 60,000 ตันต่อปี ในการนี้ เนื่องจากความต้องการกาแฟของโลกเพิ่มสูงขึ้นและมีความหลากหลาย ทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟเพิ่มมากขึ้นด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพื่อชี้โอกาสกาแฟไทยในโลกการค้าเสรี