น้ำเหนือเริ่มลด กรมชลฯปรับระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ภาคใต้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

กรมชลฯ ปรับระบายท้ายเขื่อน

กรมชลประทาน เริ่มทยอยปรับลดน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง พร้อมปิดช่องคันคลองชัยนาท-อยุธยา เสร็จเรียบร้อย กอนช.เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ภาคใต้ 18-22 ต.ค. 65 ขณะที่อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการ 24 แห่ง

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (17 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 06.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 2,894 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 144 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ

กรมชลประทานรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอัตรา 557 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบัน ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.68 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,038 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 2,913 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง ส่งผลให้น้ำที่เอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างลดลงตามไปด้วย จากนั้นจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากสุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมจุดที่ขาดของคันคลองชัยนาท-อยุธยา หรือคลองมหาราช ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เสร็จเรียบร้อย หลังระดมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซ่อมแซมคันคลอง ปิดจุดที่เสียหายกว้างประมาณ 100 เมตร ด้วยการลงเสาเข็มไม้ พร้อมวางกระสอบทราย (Bigbag) และกล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) เพื่อชะลอความแรงของน้ำและป้องกันความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้างขึ้นไปอีก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 34 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และภูเก็ต

โดยมีปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 67,753 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 59,818 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง

ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อยฯ ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา บึงบระเพ็ด และหนองหาร

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 51/2565 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18-22 ต.ค. 65 กอนช.ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรงและมีฝนบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กอนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18-22 ต.ค. 65 ได้แก่ จ.ชุมพร (อ.หลังสวน ละแม สวี เมืองชุมพร และพะโต๊ะ) จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) จ.พังงา (อ.เมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง)

จ.ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จ.กระบี่ (อ.อ่าวลึก) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.พระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง) และ จ.สตูล (อ.เมืองสตูล)

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง

3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์