กรมเจรจาฯ เดินหน้าสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจหลังอียูฟื้นความสัมพันธ์

กรมเจรจาฯ หารือเอกชน ขานรับนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจถือฤกษ์ดีอียูรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับเดินหน้าเร่งกระชับความสัมพันธ์อียูรายประเทศ ฝรั่งเศส-อังกฤษติดโผประเทศเนื้อหอม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการสร้างสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (strategic economic partnership) นั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้นเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อระดมความเห็นเรื่องการสานสัมพันธ์และยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายหลังจากที่สหภาพยุโรปหรืออียูมีข้อมติเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ

โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าประเทศสมาชิกอียูต่างก็มีความสำคัญและเป็นพันธมิตรที่ดีกับไทยมาช้านาน จึงเป็นเรื่องดีที่ไทยจะเร่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอียูอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยฝรั่งเศสและอังกฤษติดโผประเทศเนื้อหอม เนื่องจากในปัจจุบัน ไทยและประเทศเหล่านี้มีเวทีพบหารือและร่วมมือกันเป็นประจำอยู่ โดยฝรั่งเศสมีความร่วมมือระหว่าง กกร. กับสภาองค์กรนายจ้างฝรั่งเศส (MEDEF) ทั้งสองประเทศต่างแลกเปลี่ยนลงทุนระหว่างกัน มีการจัดประชุม Thailand-France Business Forum และการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue: HLED) เป็นประจำทุกปี

ส่วนสหราชอาณาจักรก็มีการประชุมสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council: TUBLC) และเนื่องจากสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการนี้อย่างใกล้ชิดและเจรจาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางการค้าของไทยให้มากที่สุด

“ขณะนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามความคืบหน้าการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูอย่างใกล้ชิดผ่านทางคณะผู้แทนอียู ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย และสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา อย่างไรก็ดี อาจต้องรอให้การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูมีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ จึงจะเห็นภาพชัดเจนว่าไทยจำเป็นต้องเจรจาจัดทำ FTA กับสหราชอาณาจักรหรือไม่ ครอบคลุมเนื้อหาแค่ไหนอย่างไร”

ขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกอื่นในอียู ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี เป็นต้น ก็มีความสำคัญและเป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยต้องกระชับความสัมพันธ์อย่างแข็งขันเช่นกัน โดยประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเชิญชวนลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีแผนนำนักธุรกิจไปเยือนและมีการลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น แม้การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียูหยุดชะงักและยังไม่สามารถสานต่อในช่วงนี้ได้ แต่ไทยก็สามารถยกระดับความสัมพันธ์โดยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับรายสมาชิกอียูได้

ปัจจุบัน อียูเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ในปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 40,133 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 22,044 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,089 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 ณ เดือนตุลาคม การค้าระหว่างกันมีการขยายตัวถึง 9.60% การส่งออกของไทยขยายตัวกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอียูที่มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ในส่วนการลงทุน ในปี 2559 อียูมีการลงทุนในไทย 6,731 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2560 ณ เดือนกันยายน ประเทศสมาชิกอียูที่ขอยื่นโครงการเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ออสเตรีย และสวีเดน