กรมชลฯปรับลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือในอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที

เขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมวางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง คาด 2-3 วัน ระดับน้ำจะต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน (21 ต.ค. 65) เวลา 06.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,695 ลบ.ม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอยู่ในอัตรา 2,790 ลบ.ม./วินาที

คาดว่าจะสามารถทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้เหลือต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ได้ภายใน 2-3 วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งบางส่วนทยอยลดลงกลับเข้าสู่ลำน้ำ แต่ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา

กรมชลประทานได้วางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยเร็วที่สุดในระยะต่อไป

พร้อมกันนี้ กรมชลประทานวางแผนสำรวจอาคารและระบบชลประทาน หลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมซ่อมแซมอาคารและระบบชลประทาน ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้เร่งสำรวจอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำต่าง ๆ ที่ใช้งานในช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูก พร้อมกันนี้ให้สำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการเก็บกักน้ำไว้เพื่อเพาะปลูก ก่อนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อให้การระบายน้ำเหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรต่อไป”

ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุ ภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18-22 ตุลาคม 2565 ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอหลังสวน ละแม สวี เมืองชุมพร และพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง)

จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภออ่าวลึก) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง) และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล)

ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 33 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 9 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ขอนแก่น หนองบัวลําภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ภาคใต้ 5 จังหวัด ภูเก็ต สงขลา ตรัง สตูล และกระบี่