“พาณิชย์” นำทัพ กฟภ. เดินหน้าเจรจาลงทุนผลิตไฟฟ้าในรัฐฉาน

กรมการค้าต่างประเทศนำทัพ กฟภ. บินหารือเชิงลึกในการเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในรัฐฉาน เผยได้รับการสนับสนุนจาก 3 รัฐมนตรีรัฐฉานอย่างเต็มที่ และยังได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลไฟฟ้าของเมียนมาถึงวิธีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปลงทุน มั่นใจปักธงลงทุนได้แน่

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 1 ก.พ.2561 กรมฯ พร้อมด้วยนายเสกสรร เสริมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 13 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และนายประจักษ์ อุดหนุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟภ. เดินทางไปเยือนรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และเทคโนโลยี แห่งรัฐฉาน เพื่อหารือถึงรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในรัฐฉานของ กฟภ.

“การนำคณะเดินทางไปครั้งนี้ เป็นการไปติดตามความคืบหน้าในการเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในรัฐฉานของ กฟภ. หลังจากที่ปีที่แล้ว กรมฯ ได้นำคณะเดินทางไปดูลู่ทางและหารือในรายละเอียดในเบื้องต้นถึง 2 ครั้ง ส่วนครั้งนี้ จะเป็นการหารือลงลึกในรายละเอียดด้านการลงทุน สถานที่ตั้ง ซึ่งผลการหารือกับรัฐมนตรีแห่งรัฐฉานทั้ง 3 ท่าน พร้อมที่จะให้การสนับสนุน กฟภ. ในการเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากรัฐฉานมีแผนพัฒนาเมืองให้รองรับการค้าและการลงทุนในด้านต่างๆ และยังขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า” นายอดุลย์กล่าว


นายอดุลย์กล่าวว่า ยังได้นำคณะเข้าพบหารือกับหน่วยงาน Electricity Supply Enterprise ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ที่ควบคุมดูแลระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในเมียนมา เพื่อรับทราบ นโยบายการบริหารด้านไฟฟ้าและการขยายเครือข่ายระบบไฟฟ้า (National Grid) ของรัฐฉานในปัจจุบัน และได้รับข้อเสนอแนะให้ควรหารือนโยบายการบริหารด้านพลังงานไฟฟ้าและแผนการขยายเครือข่ายระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดทำความตกลงกับกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงานของรัฐบาลกลางเมียนมา เกี่ยวกับพื้นที่ที่จะลงทุน แผนการจัดตั้งเครือข่ายระบบไฟฟ้า และการให้สัมปทานในแต่ละพื้นที่ เพื่อความชัดเจนก่อนเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ เมื่อได้รับทราบนโยบายและความชัดเจนจากรัฐบาลกลางเมียนมาแล้ว กฟภ. จะได้เดินหน้าแจ้งกรอบเวลาที่จะเดินทางไปศึกษา และสำรวจพื้นที่อย่างเป็นทางการในรัฐฉานต่อไป โดยกรมฯ มั่นใจว่า จะสามารถผลักดันให้ กฟภ. เข้าไปปักธงลงทุนผลิตไฟฟ้าในรัฐฉานได้แน่