เตรียมชดเชยเหมืองโพแทช ชาวบ้านรับงวดแรก 15 ม.ค. 2566

ชดเชยเหมืองโพแทช

กพร.เปิดข้อกฎหมาย “กองทุนเยียวยาและชดเชยให้กับชุมชนโดยรอบ” เหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี “เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น” เตรียมจ่ายงวดแรก 15 ม.ค. 66 ไร่ละ 4,550 บาท พร้อมเตรียมตั้งผู้ตรวจสอบการทำเหมืองจากตัวแทน 3 ฝ่าย

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับประทานบัตรเรียบร้อยแล้ว หลังจาก กพร.ได้ออกประทานบัตรไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 โดยจากนี้จะต้องดำเนินการตามกระบวนการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ 2560 (ฉบับใหม่) 4 ข้อตามกฎหมาย

ซึ่งตามมาตรา 86, 87 และ 88 ของ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ตั้งกองทุนเยียวยาและชดเชยให้กับชุมชนโดยรอบ

โดยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ออกประทานบัตร (23 ก.ย. 2565) ให้อธิบดี กพร.เรียกประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ตัวแทนหมู่บ้านละไม่เกิน 2 คน+กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกคน+ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละไม่เกิน 2 คน) รวม 88 คน เลือกบุคคลผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมือง และจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมือง

จากนั้นตามมาตรา 91, 92 และ 92 ของ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ประกอบอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และข้อตกลงที่เกี่ยวข้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับประทานบัตร (7 ต.ค. 2565) ให้ผู้ถือประทานบัตรผ่อนชำระค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน)

ให้ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินที่มีการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งงวดแรก 10% วันที่ 15 ม.ค. 2566 ของวงเงิน 45,500 บาท/ไร่ (4,550 บาทต่อไร่) และที่เหลือ (งวดที่ 2-23) ให้แบ่งชำระงวดละ 1,780 บาทต่อไร่ต่อปี ชำระภายในวันที่ 15 ม.ค.ของทุกปี

ตามมาด้วยมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.แร่ 2560 และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ผู้ถือประทานบัตรต้องเปิดการทำเหมืองภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับประทานบัตร และได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งนี้ การเปิดการทำเหมืองหมายรวมถึงการเตรียมการเพื่อทำเหมือง เช่น การปลูกสร้างอาคาร การก่อสร้าง หรือการทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตประทานบัตรเพื่อประโยชน์แก่การทำเหมือง


อย่างไรก็ตาม กรณีของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซฯ มีการทำข้อตกลงต่าง ๆ ที่เป็นมาตรการเพิ่มเติมไว้อีกหลายข้อ เช่น การจัดทำประกันภัยความรับผิดตามมาตรา 90 การจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ 7 กองทุน การจัดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ การเข้าร่วมโครงการ Green Mining หรือ CSR-DPIM ของกรม เป็นต้น โดย กพร.จะให้บริษัทดำเนินการให้ครบต่อไป