
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดตัวเลขจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ 9 เดือน 20,495 ราย เพิ่มขึ้น 20% ผลจากเศรษฐกิจฟื้นจากการท่องเที่ยว ผ่อนคลายมาตรการโควิด คาดทั้งปี 2565 จดทะเบียนธุรกิจรวม 68,000-72,000 ราย
วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนกันยายน 2565 และไตรมาส 3/2565 พบว่าจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2565 จำนวน 7,219 ราย ขยายตัว 24% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,827.45 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 593 ราย คิดเป็น 8%
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 513 ราย คิดเป็น 7%
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 295 ราย คิดเป็น 4%
9 เดือนแรก ปี’65 ยื่นจดทะเบียน 2 หมื่นราย คาดการณ์ทั้งปี จดทะเบียน 6.8-7.2 หมื่นราย
ขณะที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3/2565 (มกราคม-กันยายน รวม 9 เดือน) มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 3/2565 จำนวน 20,495 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 จำนวน 17,954 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 2,541 ราย คิดเป็น 14% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 จำนวน 17,034 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,461 ราย คิดเป็น 20%
ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,763 ราย คิดเป็น 9%
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,345 ราย คิดเป็น 6%
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 900 ราย คิดเป็น 4%
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจ ได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ จากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และมาตรการในด้านต่าง ๆ สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนกันยายนกว่า 1.3 ล้านคน รวมทั้งการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่หลายกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับเข้าร่วมจากประชาชนจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม) และราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนของผู้ประกอบการ อีกทั้ง สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ และค่าขนส่งสาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภค
จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ของนิติบุคคล 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2562-2564)
ที่จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 สูงที่สุดในแต่ละปี และลดลง
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ตลอดทั้งปี 2565 อยู่ระหว่าง 68,000-72,000 ราย
9 เดือนแรก ปี’65 ธุรกิจยื่นเลิกกิจการ 5,430 ราย
ขณะที่ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2565 มีจำนวน 1,946 ราย เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 10,081.49 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 154 ราย คิดเป็น 8%
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 96 ราย คิดเป็น 5%
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 59 ราย คิดเป็น 3%
จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำไตรมาส 3/2565 (มกราคม-กันยายน รวม 9 เดือน) มีจำนวน 5,430 ราย เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,819 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 29,733.53 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 486 ราย คิดเป็น 9%
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 266 ราย คิดเป็น 5%
- ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 173 ราย คิดเป็น 3%
ส่งผลให้ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 846,954 ราย มูลค่าทุน 20.46 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 201,040 ราย คิดเป็น 23.74%
- บริษัทจำกัด จำนวน 644,543 ราย คิดเป็น 76.10%
- บริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,371 ราย คิดเป็น 0.16%
ญี่ปุ่นเข้าลงทุนในไทยมากสุด ถึง 2 พันล้านบาท
นายทศพลกล่าวอีกว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนกันยายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้นมีจำนวน 55 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 23 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 32 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 16,086 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 14 ราย เงินลงทุน 2,074 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 27 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 760 ล้านบาท
ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจำนวน 436 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 99,368 ล้านบาท