กยท.งัดกองทุนพัฒนายางฯเยียวยาชาวสวน รายละ 3,000 บาท

น้ำท่วมสวนยาง

กยท.งัดมาตรการกองทุนพัฒนายางฯ ดูแลเยียวยาสวนยางประสบภัยน้ำท่วมรายละ 3,000 บาท กำชับทุกพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายทั่วประเทศ ด้านอธิบดีกรมชลฯ เผยไทยเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน หลายพื้นน้ำเริ่มลด คาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติกลางเดือน พ.ย.

​วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนยางได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขังหนัก

กยท.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ คือต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับ
ความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 20 ต้นในแปลงเดียวกัน เกษตรกร
จะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท

นอกจากนี้ กรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวนจะให้ระงับการปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น (พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น โดย กยท.จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่ง และค้ำยันให้ตรงได้

กยท.จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยาง อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อัตราต้นละ 110 บาท

​นายณกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางพาราถือเป็นพืชที่ค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากสามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำ และความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

กยท.แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม โดยกำชับให้ กยท.ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการดูแลสวนยางหลังน้ำท่วมอย่างถูกวิธีผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทุกช่องทาง ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายฤดูฝน เตรียมเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ปริมาณฝนในหลายพื้นที่ทางตอนบนเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักทางตอนบน อาทิ แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน (27 ต.ค. 65) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,261 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง

กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือในอัตรา 2,143 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,699 ลบ.ม./วินาที ภาพรวมแนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา C.35 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำอยู่ที่ 5.03 เมตร (ร.ท.ก.) ลดลงจากเมื่อวานเวลาเดียวกัน 11 เซนติเมตร

ที่สถานีวัดน้ำ C.37 คลองบางบาล บ้านบางบาล ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำอยู่ที่ 5.32 เมตร (ร.ท.ก.) ลดลงจากเมื่อวานเวลาเดียวกัน 10 เซนติเมตร และที่สถานีวัดน้ำ C.36 คลองบางหลวง บ้านบางหลวงโดด ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำอยู่ที่ 6.37 เมตร (ร.ท.ก.) ลดลงจากเมื่อวานเวลาเดียวกัน 16 เซนติเมตร

ส่วนสถานีวัดน้ำแม่น้ำน้อย C.67 สะพานหัวเวียง ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำอยู่ที่ 5.42 เมตร (ร.ท.ก.) ลดลงจากเมื่อวานเวลาเดียวกัน 8 เซนติเมตร และที่สถานีวัดน้ำ C.68 ตลาดเสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำ 4.59 เมตร (ร.ท.ก.) ลดลงจากเมื่อวานเวลาเดียวกัน 8 เซนติเมตร ทำให้ปัจจุบันในหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายแล้ว

“กรมชลประทานพร้อมวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยใช้นโยบายในการเร่งสูบน้ำท่วมขัง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และลำน้ำสาขาทยอยลดต่ำลงแล้ว หลายจุดระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ สำหรับการระบายน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม จะรักษาระดับน้ำไว้ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายพื้นที่ จะเริ่มคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้”