กอนช. เร่งบริหารน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเร็วขึ้น 1-2 สัปดาห์

กอนช. หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา โดยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ เพิ่มการระบายน้ำฝั่งตะวันออก ลดการระบายน้ำฝั่งตะวันตก และลดระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนท้ายเขื่อนเร็วขึ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์

วันที่ 29 ตุลาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ภายใต้ กอนช. มีการติดตามสถานการณ์น้ำและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยขณะนี้มีการปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากเดิม 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงเหลือในอัตรา 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สุรสีห์ กิตติมณฑล
สุรสีห์ กิตติมณฑล

นอกจากนี้ที่ประชุมวานนี้ (28 ต.ค. 65) มีมติให้กรมชลประทานพิจารณาเร่งการระบายน้ำออกจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในห้วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุดและระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่ง พร้อมทั้งให้กรมชลประทานพิจารณารับน้ำเข้าทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำฝั่งตะวันตก เช่น ปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ สู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และรับน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์เพิ่ม รวมทั้งให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการรับน้ำเพิ่มทางประตูระบายน้ำบางแก้วและประตูระบายน้ำลพบุรี และลดระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วขึ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์

“นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท2 จำนวน 2 เครื่อง สถานีสูบน้ำพระยาบันลือ อีกจำนวน 2 เครื่อง รวมทั้งเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม 32 เครื่อง โดยมีแผนติดตั้งที่สถานีสูบน้ำพระพิมล จำนวน 3 เครื่อง สถานีสูบน้ำคลองโยง จำนวน 3 เครื่อง และสถานีสูบน้ำบางภาษี จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สุพรรณบุรี รวมถึงศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มเติม และได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดการขยะและน้ำเน่าเสีย พร้อมเน้นย้ำให้กรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับพื้นที่การทิ้งขยะ ระบบกำจัดขยะและการรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงในน้ำที่ท่วมขังเพื่อลดปัญหาน้ำเสียด้วย” ดร.สุรสีห์ กล่าว

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ของลุ่มน้ำชี-มูล จากการรายงานของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก นาเยีย สิรินธร บุณฑริก กุดข้าวปุ้น และโขงเจียม และยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอีก 7 อำเภอ


ได้แก่อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ ดอนมดแดง ตาลสุม และเขื่องใน ส่วนพื้นที่การเกษตรและเส้นทางคมนาคมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้ในบางเส้นทาง รวมถึงประชาชนเริ่มทยอยกลับเข้าบ้านเรือนแล้ว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งเข้าดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว