สินเชื่อ DIPROM Pay เงินทุน 20 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการถูกน้ำท่วม

สินเชื่อระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งมาตรการบรรเทาและฟื้นฟู SMEs ผู้ประกอบการในพื้นที่ถูกน้ำท่วม เปิดสินเชื่อ DIPROM Pay วงเงิน 20 ล้านบาท รายละ 5 แสนบาท คุณสมบัติเข้าเงื่อนไขรับ 3 เด้ง ดอกเบี้ย 1% พักหนี้ได้ 4 เดือน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือดีพร้อม DIPROM) เปิดเผยว่า อิทธิพลจากพายุโนรูและพายุเซินกา ประกอบกับภาวะฝนตกหนักสะสมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก และจากการสำรวจผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียน พบว่ามีจำนวนกว่า 200 กิจการ ที่ได้รับผลกระทบ มูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 13.183 ล้านบาท จากอุทกภัยในครั้งนี้

ใบน้อย สุวรรณชาตรี
ใบน้อย สุวรรณชาตรี

และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน กรมจึงกำหนดมาตรการเพิ่มสภาพคล่องผ่านเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย และเป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนชั้นดีรายเดิม ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับสิทธิ 3 เด้ง คือ 1.พักชำระหนี้ไม่เกิน 4 เดือน 2.ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี และ 3.สามารถขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี โดยรวมแล้วต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม

ทั้งนี้ยังมีสิทธิขอกู้เงินเพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ต่อราย/กิจการ กรณีเป็นลูกหนี้รายเดิมที่มีการชำระหนี้เป็นปกติ หรือเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อ DIPROM Pay
พร้อมกันนี้ ยังได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ช่วยประเมินสภาพปัญหา พร้อมการวางแผนฟื้นฟู
ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC)

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเอง หรือส่งคำขอทางไปรษณีย์มาที่กลุ่มบริหารเงินทุน สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ชั้น 4 ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร หรือศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1-11 ที่ประจำอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่รับผิดชอบ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ กรมยังส่งทีมวิศวกรและช่างเทคนิคเข้าซ่อมแซมเครื่องจักรกลที่ได้รับความเสียหาย ฟื้นฟูอาคารโรงเรือน เพื่อให้ภาคการผลิตสามารถกลับมาดำเนินการได้ พร้อมการฝึกฝนทักษะอาชีพดีพร้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน