ปตท.-SCG รุกนวัตกรรม ต่อยอดสินค้าสู่ S-Curve

เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องพยายามขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทยสู่ Industry 4.0 เพื่อพัฒนายกระดับผู้ประกอบการของไทย ให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะนโยบายการผลักดันส่งเสริมให้มีการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงอุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทยว่า แม้ว่า ปตท.จะเป็นเอกชนรายใหญ่แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จนขณะนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจรวมมีการหมุนเวียนมูลค่ากว่าล้านล้านบาท และอนาคต ปตท.ยังมุ่งที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพื่อที่จะต่อยอดสินค้าเกษตรของไทยให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเตรียมแผนที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่ไทยมีค่าแรงงานที่สูงขึ้นอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานจะหนีไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวลดต้นทุน ซึ่งการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการปรับเปลี่ยนสินค้าหรือเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น การค้าขายออนไลน์อย่างอาลีบาบา
โดยกลุ่มเอสซีจีเองปีที่แล้วได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาถึง 4,000 กว่าล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของยอดขาย ซึ่งหากเทียบกับต่างประเทศยังถือว่าน้อย


นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันทั้งภาคการผลิตและบริการ ภาครัฐ สมาคมการค้าระหว่างประเทศ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และประชาชนทั่วไป ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการ เชื่อมโยงแนวคิดและให้ข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางของอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม มาตรการในการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มและเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนตระหนักดีถึงการพัฒนาตนเอง เพื่อให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และทั้งหมดจะเห็นได้ว่ารายใหญ่จะช่วยดึงรายเล็กไปทั้งซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ได้เช่นกัน