เกษตรไทยแย่สวนทาง AEC รัฐทุ่มอุดหนุน-ต้นทุนพุ่งแข่งลำบาก

ภาวะการณ์เกษตรกรไทย
เกษตรกรไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้จัดสัมมนาแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ TDRI

ขีดความสามารถเกษตรไทยลด

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ได้ศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การเปิดเสรีการค้าตามเออีซี ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยต่ำ แต่ละประเทศต่างปกป้องภาคเกษตรของตนเอง รวมทั้งไทยเองในเรื่องความสามารถในการแข่งขันถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของแต่ละประเทศ เช่น ทรัพยากร นโยบายรัฐ เทคโนโลยี และความสามารถของเกษตรกร ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยกำลังลดลงจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งแรงงาน ที่ดินโลจิสติกส์ และต้นตอความสามารถในการแข่งขันที่ไทยเคยมีและเคยได้เปรียบกำลังถูกเพื่อนบ้านตามทันโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก พบว่าคู่แข่งหันมาใช้การค้าเสรี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกษตรและการวิจัย

ขณะที่ไทยหันมาใช้นโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัว โดยเฉพาะด้านบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ควรปลูกพืชใช้น้ำให้คุ้ม แต่เวลานี้ใช้น้ำสิ้นเปลืองมาก เกษตรกรต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเพื่อให้เห็นคุณค่าของน้ำ โดยจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม จะทำให้เริ่มเกิดการปรับตัว ปลูกข้าวน้อยลงไปสู่การปลูกพืชรายได้สูงกว่าเพราะราคาข้าวตกต่ำแก้ไม่ได้

แนะปฏิรูปภาคเกษตร-SMEs

นายนิพนธ์กล่าวว่า จีนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจกับเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะที่ดินในจีนเป็นของรัฐ แต่ไทยเป็นที่ดินของเกษตรกรเอง ดังนั้น การอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเอสเอ็มอีของรัฐต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการนำโมเดลในจีนมาใช้รัฐต้องมองบริบทควบคู่ด้วย โดยเริ่มต้นจากหลักการเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่ให้สมดุล

“นอกจากนี้ ภาครัฐต้องไม่คิดเรื่องราคาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคิดเช่นนั้นจะกลายเป็นพืชการเมือง แก้ไม่จบ เอาเงินทุ่มไปแล้วท้ายที่สุดคนที่ได้รับเงินช่วยเหลือก็อยากได้ จะโทษชาวบ้านไม่ได้ เพราะการช่วยนั้นต้องช่วยให้ลืมตาอ้าปาก ช่วยให้มีเบ็ดตกปลาไม่ใช่ส่งปลาไปให้”

ขณะที่การปฏิรูปภาคเกษตรหลักการควรปรับเปลี่ยน อีกประการคือต้องใช้ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์” เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร เช่น สมัยก่อนไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งกุลาดำอันดับหนึ่ง แต่เวลานี้เสียตำแหน่งไปแล้ว ดังนั้น ไทยต้องมีการวิจัยพัฒนาในเรื่องสายพันธุ์

อากาศเปลี่ยนกระทบเกษตร

การทำเกษตรย่อมมีความเสี่ยง หากพยากรณ์ผิดพลาดผลผลิตเสียหาย ภาครัฐจึงลงทุนสร้างฐานให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะ 1.เรื่องการคาดการณ์แต่ละฤดูให้ทันท่วงทีสู่เกษตรกร 2.เมื่อสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนต้องปรับปรุงพันธุ์พืช ดังนั้น งานวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงสำคัญ รัฐบาลต้องทุ่มงานวิจัยสิ่งนี้

“หน่วยงานราชการต้องอัพเดตข้อมูล (Data) ตลอดเวลา พืชผลเกษตรที่ไหนมีราคาเท่าไร มีความเสี่ยงด้านอากาศอย่างไรที่จะส่งผลต่อการเลี้ยงเพื่อส่งสารไปถึงตัวเกษตรกร โดยเฉพาะแนวโน้มการตลาดต้องคาดคะเนได้ เพราะอาชีพเกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงผลผลิต ทั้งการตลาด อากาศ ดังนั้นเรื่องข้อมูลจึงสำคัญมากที่สุดในภาคเกษตร แต่รัฐยังไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร

เพราะฉะนั้นแล้ว การเปิดเออีซีมีเรื่องสำคัญ และข้อดี เต็มไปหมดมีเสาหลักทุกตลาด เปิดเสรีมากขึ้น เป็นข้อเท็จจริง แต่ประเมินผลจริงน้อย เช่น นักลงทุนมาลงทุนไทยไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางนี้เลย เพราะไทยมีการส่งเสริมการลงทุน ประเทศอื่นก็มีเช่นกัน ตกลงกันเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ข้อกีดกันทางการค้าไว้แต่ข้อเท็จจริงกลับเพิ่มเงื่อนไข แต่ละประเทศมีนโยบายของตัวเองแต่ปรากฏว่า เมื่อก่อนความสามารถการเเข่งขันสินค้าเกษตรอาเซียนไทยเก่งมากแต่ตอนนี้กลับถดถอยลง โดยไม่เกิดจากข้อตกลงใด ๆ ของเออีซี เกิดจากการค้าซึ่งเวลานี้ไทยสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ สมัยก่อนไทยเก่งหลายปัจจัยทั้งขนาดโรงงานต้นทุนต่ำ กระจุกตัวราคาปัจจัยผลิตสูงกว่าเพื่อนบ้าน คู่เเข่งลงทุนวิจัย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะวิจัย แต่ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านไล่ตามทันแล้ว ขณะที่ไทยใช้ทางออกด้วยการดึงนวัตกรรมมาใช้ แต่รัฐบาลต้องกระตุ้นจริงจัง เวลานี้เราเริ่มเห็นว่าถดถอยลง

“ไทยมีทรัพยากรมีที่ดินต่อหัวมากกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่ไทยเฉลี่ยปลูกทำนา 20 ไร่/ครัวเรือน แต่เวียดนามไม่ถึงไร่เนื่องจากที่ดินน้อยเเละมีภูเขาจำนวนมาก ดังนั้น เวียดนามต้องใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า และมีโรงงานมากสามารถควบคุมศัตรูพืชได้เอง ขณะที่ไทยใช้สารเคมี ดังนั้น 70% เขามีพื้นที่ชลประทาน แต่ไทยมี 20% ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ผลผลิตต่ำเพราะใช้แรงงาน ไทยมีที่ดินมาก แต่น้ำน้อยผลผลิตต่อไร่ ต่ำแต่ใช้เทคนิค”

กระจายรายได้-กระตุ้นท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องพัฒนาเมือง กระจายเมือง พัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคด้วย เพราะนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (eec) จะทำให้กระจุกตัว อยู่เพียง 3 จังหวัด โดยเฉพาะประเด็นค่าแรง ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาถึงปี 2569 ขึ้นอัตราค่าแรงแค่ 5 บาท แต่กลับทำระบบเสียทั้งประเทศ แม้ว่าการขึ้นค่าแรงจะไม่เท่ากันแต่ละจังหวัด แต่รัฐมีแนวคิดการจ้างงานสูง ภูมิภาคจะดึงคนกลับไปทำงานได้ก็จริง แต่จะกลับไปทำไมในเมื่อไม่มีงานทำ ข้อนี้รัฐมองข้างเดียวเกินไป โดยเฉพาะจังหวัดที่เจริญเติบโตช้าค่าแรงก็ต่ำ จะทำอย่างไรให้มีการจ้างงานมากขึ้นคนถึงจะอยากกลับไปทำงานที่บ้าน

อย่างไรก็ดี นโยบายที่มาถูกทางที่สุดขณะนี้คือ “เมืองหลักเมืองรอง” กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะกระตุ้นรายได้ท้องถิ่นดึงเม็ดเงินนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด

“เรื่องค่าแรงผมมองว่าจำเป็นต้องขึ้น รัฐต้องชัดเจนในเรื่องนี้ว่าไทยขาดเเคลนแรงงานแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรจำต้องปรับค่าแรงสูงขึ้น แต่ถ้าขึ้นเพื่อให้ธุรกิจทั้งหมดปรับตัว รัฐต้องส่งสัญญาณก่อน โดยเฉพาะให้สอดคล้องแรงงานต่างด้าวเพราะเดี๋ยวขึ้นค่าจ้างมาปล่อยเสรีค่าจ้างก็ต่ำ ตรงนี้ขัดเเย้งกันนโยบายไม่ไปด้วยกัน ต้องค่อย ๆ ทำ ต้องมีมาตรการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจรู้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีเวลาปรับตัว เพราะเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีนโยบายค่าแรงชัดเจน”

เวียดนามแซงไทย

ทางด้าน ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าการลงทุนของไทยในอาเซียนขณะนี้มีมากขึ้นแต่การเปิดการค้าเสรีอาเซียนไม่ได้ส่งผลต่อภาคเกษตรไทยทั้งมาตรการลดภาษีตามข้อตกลงภูมิภาค (ATIGA) และการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTMN) เนื่องจากมีมานาน แต่กลับไม่มีกลไกบังคับ ไทยต้องพัฒนารายสินค้าโดยให้ความสำคัญกับฐานข้อมูล ประเทศเวียดนามในฐานะคู่แข่งสินค้าเกษตรไทยขณะนี้จุดเด่นคือมีแนวทางชัดเจน และ commitment จากภาครัฐและการปรับตัวที่รวดเร็วของเกษตรกร การให้ความสำคัญ R&D เพื่อพัฒนา เพิ่มมูลค่า


อย่างไรก็ดี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ข้อควรระวังสำหรับภาคการเกษตรไทยจากการเป็นประชาคมอาเซียน คือวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ค่าแรงสูงแรงงานเกษตรขาดเเคลน ขาดทักษะ คุณภาพมาตรฐานสินค้านำเข้าต่ำจึงทำให้เกิดการเเข่งขันเรื่องต้นทุนมาก และการแข่งขันการค้าไปนอกอาเซียนจะมากขึ้นเกิดสภาพการเเข่งขันสูงเพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา แต่ข้อได้เปรียบและจุดแข็งของไทยยังคงเป็นภาพลักษณ์สินค้าเกษตรดี ภาคเอกชนมีประสบการณ์สูงและเป็น hub โลจิสติกส์