ตั้งไข่บิ๊กโปรเจ็กต์ “เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์” เกษตรฯ ดันไทยเมืองนวัตกรรมอาหาร

โปรเจ็กต์

อลงกรณ์ เผย กรกอ. ไฟเขียว บิ๊กโปรเจ็กต์ “เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์” หนุนจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมภาคกลางเตรียมเชิญ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน สอท. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ 24 พ.ย.นี้

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting ว่า กรกอ.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Phetchaburi Food Valley)

อลงกรณ์ พลบุตร
อลงกรณ์ พลบุตร

นำเสนอโดย นายมานพ โตการค้า ผู้บริหารโครงการตั้งอยู่ในอำเภอแก่งกระจาน และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งทางด้านคมนาคม การสื่อสาร ไฟฟ้า และน้ำ โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการ ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่เป็นโครงการอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ ที่ได้มีการจัดสรรพื้นที่ตามศักยภาพ และเป็นไปตามกฎหมายผังเมือง ประกอบด้วย

1.ศูนย์แสดงนวัตกรรมการเกษตร 70 ไร่ หน้าพื้นที่โครงการ จะเป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร และการเจรจาธุรกิจ ห้องประชุม และศูนย์วิจัยเทคโนโลยี PlatForm การเกษตร ก่อสร้างคืบหน้า 50%

2.แปลงปลูกข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ 12,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน ปัจจุบันปลูกข้าวโพดและหญ้าเนเปียร์แล้ว 5,000 ไร่ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก

3.คอกโคกลาง 1,600 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน เป็นคอกมาตรฐานที่มีการใช้ร่วมกัน มีน้ำสะอาด อาหารราคาถูก และการดูแลรักษาได้มาตรฐานลดต้นทุนการผลิต โดยจังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่เลี้ยงโคส่งขายปีละกว่า 140,000-150,000 ตัว

4.ฟาร์มกุ้งระบบปิด 2,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลท่าไม้รวกและตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง ซึ่งได้รับอนุญาตจากประมงแล้ว โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการช่วยให้สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตกุ้งอย่างมีคุณภาพ

5.โรงงานแปรรูป 1,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลไม้รวก อำเภอท่ายาง เป็นโซนพื้นที่รองรับการตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร ซึ่งมีความพร้อมทั้งถนนคอนกรีต น้ำประปา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไฟฟ้าแรงสูง รวมถึง Internet

6.โซลาร์ฟาร์ม 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับผลิตโซลาร์ฟาร์ม มีสายส่งขนาด 115KV ผ่าน ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 900 ไร่ โดยบริษัทด้านโซลาร์ฟาร์มชั้นนำของประเทศ

ในการนี้ ประธานได้ให้ผู้บริหารโครงการพิจารณาจัดทำฮาลาลฟู้ดวัลเลย์ (Halal Food Valley) ในพื้นที่โครงการด้วย จัดว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเรือธง (Flagship Project) ของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรี (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร)

โดยมีศูนย์ AIC เพชรบุรีคือมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีให้การสนับสนุน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor : WEC) ตามนโยบายรัฐบาล นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการบริหารงานใหม่แบบใหม่ นำไปสู่เกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีของไทย ครอบคลุมทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์เป็นฐานสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมภาคกลางตอนล่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่เกื้อหนุนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ด้วย โดยนายสุรชัย โสตถีวรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลางและประธาน กรกอ.ภาคกลาง เตรียมเชิญ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลย์ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ด้วย

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาคได้แก่

1.คณะอนุกรรมการ กรกอ.ภาคเหนือ ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารภาคเหนือ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) โดยเพิ่มเติมพืชที่มีศักยภาพที่จะผลักดันเข้าสู่โครงการเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 5 ล้านไร่ คือ ข้าวโพด ชา กาแฟ กล้วยหอมทอง และพืชสมุนไพร นอกเหนือจากอ้อย และข้าวโพดหวานที่ดำเนินการอยู่แล้ว

2.คณะอนุกรรมการ กรกอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าพบประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นายสมยศ ชาญจึงถาวร) ซึ่งประธานฯ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานเชิงประจักษ์ตามแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ ส.อ.ท. และขอให้มีการดำเนินการตามโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ในระยะที่ 2 ต่อไป และรับทราบผลการจัดทำแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับพื้นที่ (5 กลุ่มจังหวัด)

โดยมีสินค้าสำคัญ คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และโคเนื้อ ซึ่งจะนำมาเข้าเวทีเพื่อขับเคลื่อนและจัดทำแผนร่วมกันว่า สินค้าดังกล่าวมีความโดดเด่นเพียงใด โดยประธานได้มอบหมายให้ทุกคณะอนุกรรมการฯ ในแต่ละภาค เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเชื่อมโยงกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในเรื่องรายการนวัตกรรม (Innovation Catalog) ที่มีเกือบ 800 นวัตกรรม โดยให้ฝ่ายเลขาฯ ภาค ประสานศูนย์ AIC ในการเข้าร่วมประชุม เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ

3.คณะอนุกรรมการฯ ภาคกลาง รายงานความก้าวหน้าโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ (Aqua Feed & Ornamental Freshwater Fish Industry : AFOF) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค COVID-19 ในเขตภาคกลางตอนล่าง 1 ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ AIC สภาอุตสาหกรรมฯ ระดับภาค โดยได้จัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 135 ล้านบาท

โดยประธานกล่าวว่า โครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นวาระเพื่อทราบ จึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวก. สภาอุตสาหกรรมในส่วนของผู้ประกอบการ รวมถึงกรมประมง กรมปศุสัตว์ ได้รับทราบ พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการ ประสานผู้แทนและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ในการนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุม พร้อมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมในวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

4.คณะอนุกรรมการฯ ภาคตะวันออก รายงานว่า ได้มีการจัดประชุม เพื่อจัดทำแผน BCG ภาคตะวันออกร่วมกัน ปัจจุบันเกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานเป็นอย่างมาก

5.คณะอนุกรรมการฯ ภาคใต้ ได้มีการขับเคลื่อน Thailand Green Rubber โดยการประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย ใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งได้ประสานสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจรับซื้อผลผลิตทั้งน้ำยางและไม้ยาง

โดยประธานได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ทุกคณะจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าทุก 2 เดือน และสรุปผลนำเสนอต่อที่ประชุม เนื่องจากเป็นการประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงโครงสร้างระบบให้มากที่สุด เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

การประชุมในครั้งนี้ ประธานได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของ ส.อ.ท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการประชุมเอเปค (APEC) ในเดือนนี้ รวมทั้งการประชุมขยายความร่วมมือระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทย ในวาระที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย พร้อมคณะผู้แทนภาคเอกชน เดินทางมาเยือนไทยเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ และเป็นโอกาสทองของไทยในการเร่งยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง

โดยเฉพาะการสร้างฐานใหม่ในการแปรรูปใน 18 กลุ่มจังหวัด เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรครอบคลุม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครซึ่งบีโอไอได้กำหนด 9 มาตรการใหม่ ในการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค จะทำให้ประเทศไทยมีฐานเศรษฐกิจใหม่ 18 ฐาน ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น และขับเคลื่อนประเทศไทยซึ่งเป็นครัวโลกสู่มหาอำนาจทางอาหารได้ในอนาคตอันใกล้ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก