ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสัมมนา “ไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจผ่าน FTA” โดยสะท้อนผ่านทางข้อตกลงทางการค้าสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) กับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
เปิดเสรีบริการ-ลงทุน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2561 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มีกำหนดที่จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในสินค้า 3,439 รายการ แบ่งเป็น ฝ่ายญี่ปุ่นลดภาษีสินค้า 565 รายการ มีรายการสินค้าที่สำคัญ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง, โพลีเอทิลีน ส่วนฝ่ายไทยจะมีการลดภาษีอีก 2,874 รายการ เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์เหล็ก และตะปู
โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ประเทศได้ทยอยลดภาษีสินค้าจนเหลือ 0% ไปแล้วถึง 80% โดยฝ่ายญี่ปุ่นลดภาษี 0% ไปแล้ว 7,200 รายการ ไทยลดภาษี 0% ไปแล้ว 2,469 รายการ แต่ยังเหลือสินค้ากลุ่มอ่อนไหวสูงอีก 1% ที่มีกำหนดจะลดภาษีเป็น 0 ในปี 2566 และยังมีสินค้าที่ไม่นำเข้าการเจรจาลดภาษีอีก 1%
พร้อมกันนี้สมาชิกอาเซียนจะลงนามความตกลง AJCEP ด้านการค้าบริการ-ลงทุน รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคลากรเสรี ในการประชุมระดับผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เดือนสิงหาคมนี้ และมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2561
สำหรับการเปิดเสรีภาคบริการ-การลงทุนนั้น ฝ่ายไทยตกลงที่จะเปิดเสรีให้ฝ่ายญี่ปุ่นสามารถถือหุ้นได้ถึงสัดส่วน 70% ในธุรกิจบริการ 23 สาขาที่ไทยยังไม่มีความพร้อม จึงต้องการดึงดูดให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น อาทิ บริการธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์, บริการด้านวิจัยและพัฒนาบริการอสังหาริมทรัพย์, บริการธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษา, บริการด้านโทรคมนาคม, บริการด้านโสตทัศน์, บริการก่อสร้างและวิศวกรรม, บริการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนธุรกิจบริการ 92 สาขายังคงสัดส่วนให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 49% เช่นเดียวกับความตกลงอาเซียน เช่น บริการด้านการเงิน, บริการด้านกฎหมาย, บริการด้านนันทนาการ, บริการด้านโทรคมนาคม (บางเรื่อง) เป็นต้น
นอกจากนี้ในประเด็นด้านการลงทุน ความตกลงการลงทุนยังได้ให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ลงทุนว่า จะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และไม่ถูกเวนคืนการลงทุนโดยไม่มีเหตุสมควร สามารถโอนเงินเข้าออกจากประเทศได้อย่างเสรี
ส่วนประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนาม AJCEP คาดว่าจะช่วยให้มูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นระหว่าง 25-30% ภายใน 10 ปี (เคยตั้งเป้าไว้ที่ 54,000 ล้านเหรียญ) แต่ที่สำคัญก็คือ การลงนามความตกลงเปิดตลาดบริการในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการของไทย ทำให้สามารถเข้าไปลงทุนในสาขาบริการต่าง ๆ ที่ไทยมีศักยภาพในญี่ปุ่นได้ 100% ถึง 132 สาขา เพิ่มจากเดิมเปิด 120 สาขา และเปิดเสรีโดยมีเงื่อนไข 29 สาขา เช่น โฆษณา, จัดเลี้ยง, การจัดประชุม, บริการทัวร์และไกด์, การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ, โรงแรม, สปา, อสังหาริมทรัพย์, ร้านอาหาร, การวิจัยและการพัฒนา, การซ่อมแซมและบำรุงอากาศยาน และการจัดจำหน่าย
เรื่องใหม่ รายการความโปร่งใส
ด้าน น.ส.เก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้ความตกลงเรื่องการค้าบริการและการลงทุน AJCEP ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอให้สมาชิก 10 ประเทศจัดทำรายการความโปร่งใส (transparency list) แนบท้ายความตกลงภายใน 4 ปี หรือในปี 2565 ซึ่งรายการความโปร่งใสนี้ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อนในความตกลงอาเซียน+1 ฉบับอื่น “รายการความโปร่งใสก็คือ ข้อผูกพันที่ประเทศสมาชิกจะต้องนำกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ ภายในประเทศที่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างนักลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนญี่ปุ่นมาบรรจุเอาไว้ในความตกลงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างสมาชิกเพื่อเผยแพร่ต่อสมาชิกภายในเวลา 4 ปี สำหรับ CLMV และ 6 ปี สำหรับอาเซียนเดิม” น.ส.เก็จพิรุณกล่าว
ส่วนสาระสำคัญของความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคลากร นั้นทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดว่าจะอนุญาตให้คนญี่ปุ่นหรืออาเซียนหรือนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายสามารถเดินทางเข้ามาติดต่อธุรกิจโดยไม่รับเงินเดือนในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ในระยะเวลา 90 วัน และอนุญาตให้พนักงานญี่ปุ่นหรือประเทศสมาชิกสามารถขอโอนย้ายเพื่อมาทำงานในบริษัทสาขาที่ตั้งอยู่ในประเทศในกลุ่ม 11 ประเทศได้โดยเสรี
ไทยขาดดุลไม่ใช่ปัญหา
นอกจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) แล้ว ประเทศไทยยังมีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาแล้วจนครบ 10 ปี โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่าง “ทบทวน” ความตกลงเพื่อเปิดตลาดสินค้า-บริการ และการลงทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในรายการสินค้าบริการที่อยู่ใน “บัญชีอ่อนไหว” กับ “สินค้าที่ยังไม่ได้มีการเจรจาเปิดตลาด” เช่น ข้าว, แป้งแปรรูป, ปลาหมึกแช่แข็ง, นมผง”ขณะนี้ไทยได้มีการเจรจาสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับญี่ปุ่นโดยผ่านความตกลง 2 ฉบับ คือ AJCEP กับ JTEPA เป็นการเจรจาที่เกื้อกูลกัน โดยเฉพาะในเรื่องการสะสม
แหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อจะนำไปใช้ลดภาษี เช่น หากสินค้าใดสามารถผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก ลดภาษีตามกรอบ JTEPA แต่หากสินค้าใดที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศอาเซียน นำมานับรวมกัน และใช้สิทธิ์ลดภาษีตาม AJCEP ได้” น.ส.ชุติมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้การค้า 10 ปีระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลง JTEPA พบว่า เมื่อปี 2560 มีการค้าระหว่างกัน 54,346.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12,293.4 ล้านเหรียญ หรือเพิ่ม 29% จากปี 2549 ที่มีมูลค่า 42,053.5 ล้านเหรียญ โดยฝ่ายไทยส่งออก 22,309.6 ล้านเหรียญ จาก 10 ปีก่อนส่งออก 16,385.9 ล้านเหรียญ และนำเข้า 32,037 ล้านเหรียญ จาก 10 ปีก่อนที่นำเข้า 25,667.6 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า 9,727.7 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนที่ขาดดุลอยู่ที่ 9,281.7 ล้านเหรียญ
“การขาดดุลการค้าให้กับญี่ปุ่นหลังจากที่เปิดใช้สิทธิประโยชน์ JTEPA ไม่ใช่เป็นประเด็นที่น่าตกใจ เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศที่ 3 จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นการจะมองว่าไทยขาดดุลการค้าญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ได้ เราต้องมองถึงสถานะของประเทศคู่ค้าด้วยว่า ประเทศนั้นเป็นอะไรกับเรา” น.ส.ชุติมากล่าว