ปตท.สผ.ซื้อหุ้น “บงกช” ตอกย้ำประมูลปิโตรเลียม “ต้องชนะ”

AppleMark

การเข้าซื้อหุ้นในแหล่งบงกชเพิ่มเติมอีกร้อยละ 22 ของบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ในเครือ ปตท.สผ.) ซึ่งเดิมถือหุ้นโดย บริษัท เชลล์ อินทีเกรทเต็ด แก๊ส ไทยแลนด์ พีทีอี ลิมิเต็ด และ บริษัท ไทยเอนเนอร์จี จำกัด (บริษัทย่อยของเชลล์) นั้น ส่งผลให้ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนร้อยละ 66 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 33 ถือหุ้นโดยบริษัท โททาล (บริษัทชั้นนำจากฝรั่งเศส) แวดวงพลังงานวิพากษ์วิจารณ์ถึงดีลการซื้อขายหุ้นดังกล่าวว่า หากย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เชลล์ อินทีเกรทเต็ดฯ ประกาศว่าอยู่ในระหว่างเจรจาซื้อขายหุ้นในแหล่งบงกช ให้กับบริษัท KUFPEC Thailand Holding Pte. ที่เสนอราคามาที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ เสนอราคาที่ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ สถานการณ์ของเชลล์ในขณะนั้นได้แบกภาระหนี้สินมากมาย ภายหลังจากที่บริษัทแม่ (Shell) ควบรวมกิจการกับบีจีกรุ๊ป ฉะนั้นการขายหุ้นก็ควรเลือกผู้ที่เสนอราคาที่ดีที่สุด แต่กรณีนี้กลับเลือกขายหุ้นให้กับ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ แทน

ความพยายามเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งบงกชของ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร รวมถึงเพิ่มบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น ถือเป็นการตอกย้ำถึงเป้าหมายของ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเดือน ก.ย.ปี’60 ว่า ยืนยันที่ร่วมประมูลแหล่งบงกช ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี’65 นี้ โดย ปตท.สผ.มีเพียงเป้าหมายเดียว คือ “ต้องชนะ” การประมูลเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อประเมินศักยภาพของบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ ถือว่า “ได้เปรียบ” คู่แข่ง และมีโอกาสชนะการประมูลสูงอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้ควบคุมการผลิต (operate) ในแหล่งบงกช เท่ากับว่า ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ มีข้อมูลเชิงลึกที่เหนือกว่าผู้ประมูลรายอื่น โดยเฉพาะข้อมูลเชิงธรณีวิทยา แต่สิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้นคือ การปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูล (TOR) ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่กำหนดว่า ผู้ชนะประมูลจะต้องรักษาระดับการผลิตให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน (หรือรวมทั้ง 2 แหล่ง คือ บงกช-เอราวัณ จะต้องรักษากำลังผลิตขั้นต่ำไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) ซึ่งในกรณีที่รายอื่นชนะการประมูลก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่การสำรวจ ฉะนั้นการรักษาระดับการผลิตดังกล่าวจึงค่อนข้างยาก ในกรณีที่ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ ชนะประมูล นายสมพรระบุว่า ปตท.สผ.ได้วางแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวไว้ต่อเนื่องไปถึง 3-4 ปีข้างหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว

เหตุผลที่ ปตท.สผ.อินเตอร์ฯ ให้ความสำคัญกับแหล่งบงกชถึงขนาดประกาศสู้ยิบตานั้น เนื่องจากยอดขายจากแหล่งบงกช คิดเป็นร้อยละ 25 ของยอดขายรวม ถือเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในพื้นที่อ่าวไทย ที่ประกอบไปด้วยแปลง B15 แปลง B16 และแปลง G12/48 ปัจจุบันมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติที่ 860 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และยังสามารถผลิตคอนเดนเสตได้อีกราว 26,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งก๊าซที่ได้จากแหล่งบงกช คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตก๊าซที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในประเทศ นอกจากนี้ แหล่งบงกชถือเป็นแหล่งก๊าซแห่งแรกที่ดำเนินการโดยบริษัทคนไทย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของบริษัทไทยในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่แข่งขันกับต่างชาติได้

นอกเหนือจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งบงกชแล้ว ปตท.สผ.ยังมองถึงโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งเอราวัณด้วย เพราะในปัจจุบัน ปตท.สผ.ถือหุ้นในแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวเพียงร้อยละ 5 โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ที่ร้อยละ 71.25 และส่วนที่เหลือร้อยละ 23.75 ถือหุ้นโดยบริษัท มิตซุยเอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด ร้อยละ 23.75 ซึ่งเป็นประเด็นที่วิจารณ์ในแวดวงธุรกิจสำรวจและผลิตว่า ผู้ถือหุ้นเดิมในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นแน่นอน เพราะแหล่งเอราวัณถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีศักยภาพไม่แพ้แหล่งบงกชเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้วางเป้าหมายที่จะประกาศเงื่อนไขการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จนถึงขณะนี้ทุกอย่างยังคงเหมือนวนในอ่าง เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (production sharing contract) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อกฎหมายยังไม่ประกาศใช้ก็ไม่สามารถประกาศเงื่อนไขประมูลได้เช่นกัน