เปิดผลศึกษา จุฬาฯ ลดคาร์บอนปั๊มเศรษฐกิจ 4.5 ล้านล้าน

เปิดผลศึกษาคาร์บอน
ภาพจาก pixabay

ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality กำลังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาหารืออย่างกว้างขวาง ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ GIZ จัดสัมนาสาธารณะจาก COP26 สู่ COP27 เดินหน้าภาคพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายปี 2050

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ไทยร่วมประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 และให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าสู่เป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 จนมาถึงปีนี้การประชุมในสมัยที่ 27 หรือ COP27 ที่ประเทศอียิปต์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยยังคงยึดมั่นในคำสัญญาเดิม

ภายในงานนี้ได้มีการนำเสนอผลงานการศึกษา “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน 2050” ภายใต้โครงการ CASE ซึ่งจัดทำโดย “ดร.สิริภา จุลกาญจน์” สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ข้อสรุปว่า

เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงานในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลการศึกษาจากโครงการ CASE สะท้อนให้เห็นว่า แผนและนโยบายปัจจุบัน “ยังไม่เพียงพอ” ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนต้องอาศัยการลดคาร์บอนอย่างเข้มข้นในภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง ซึ่งการดำเนินการนั้น จะไม่ไปเพิ่มต้นทุน และช่วยสร้างประโยชน์ให้อีกด้วย เพราะอนาคตเทคโนโลยีมีการพัฒนาทำให้ต้นทุนถูกลง และฟอสซิลจะมีราคาแพงขึ้น

“การที่จะลดคาร์บอนได้ยังห่างไกลแผน ซึ่งการศึกษาเราพยามใช้เทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำ ประเมินว่าในปี 2050 ภาคพลังงานจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากที่สุด 60 ล้านตันคาร์บอน ประเทศไทยยังต้องการแหล่งดูดซับคาร์บอน โดยแหล่งดูดซับคาร์บอนคาดว่าจะมีอยู่ 95 ล้านตันคาร์บอน ในปี 2050 แต่ต้องอาศัยการปลูกป่าอย่างมาก โดยการปลูกป่า 1 ไร่ ลดคาร์บอนได้ 50-700 ตันขึ้นอยู่กับพันธุ์พืชที่ปลูก”

ตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 แต่ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ต่างก็มีการดำเนินการเช่นกัน เวียดนามตั้งเป้าปี 2050 เช่นกัน โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียน ส่วนอินโดนีเซียตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 ในปี 2060 เร็วกว่าไทยที่กำหนดไว้ในปี 2065 ทั้งที่อินโดนีเซียมีการผลิต “ถ่านหิน” ค่อนข้างมาก

เส้นทางสู่การลดคาร์บอน

สิ่งสำคัญคือ ภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรมและขนส่ง มีบทบาทมากในการลดคาร์บอนต่างกัน ทั้งนี้ ภาคพลังงานเป็นส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคิดเป็น 50% ซึ่งงานศึกษามีสเตปการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ 3 สเตป โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกไทย จะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 30% ภาคไฟฟ้าและอุตสาหกรรมมีบทบาทมากที่สุดมีเทคโนโลยีพร้อมแล้วสามารถทำได้เลย

ส่วนสเตปที่ 2 คือ ต้องลดคาร์บอนให้ได้ถึง 70% และสเตปที่ 3 คือ ปี 2030-2050 ภาคขนส่งจะเห็นในช่วงท้ายๆ เพราะต้องใช้ระยะเวลาลงทุนโครงสร้างต่างๆ ก่อนจะเห็นผลใน 20 ปีหลัง

สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า จะต้อง เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยในปี 2030 ประเทศไทยต้องไม่มีการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินเลย และในปี 2050 โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องไม่มีในระบบ ลดบทบาทการใช้โรงไฟฟ้าก๊าซ และนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้แทน

โดยงานวิจัยได้เสนอ 3 มาตรการที่จะบรรลุเป้าหมาย คือ 1) ติดตั้งโซลาร์บนหลังคา และโซลาร์ฟาร์ม โดยไม่ต้องมีการอุดหนุนราคาแล้ว เพราะ “ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์”สามารถแข่งขันกับไฟฟ้าฟอสซิลได้ และที่สำคัญคือ ต้องลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้โซลาร์เข้าระบบได้ และสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ติดตั้งสะดวกในการลงทุน

2) เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยปรับ “สัญญาซื้อขายไฟฟ้า” โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลต้องเปลี่ยน ฉะนั้นต้องออกแบบสัญญาให้โรงไฟฟ้าก๊าซทำงานได้ตามบทบาทใหม่ และนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่มาช่วยบริหารจัดการะบบไฟฟ้าให้ยืดหยุ่น

และ 3) การวางแผนเปลี่ยนรถเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ใช่แค่โครงสร้าง แต่ต้องปรับเรื่องแรงงานด้วย

เมื่อเช็คพอยด์ การใช้ความร้อนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปี2037 ภาคความร้อนอุตสาหกรรมต้องหันมาใช้ไฟฟ้าลดการใช้น้ำมันผลิตความร้อน ปี 2050 เลิกใช้ถ่านหินในภาคความร้อนไปแล้ว โดยโมเดลมีศึกษาเรื่องพลังงานความร้อนต่ำ ใช้ฮีทปั๊มได้ และความร้อนสูง สามารถใช้ชีวมวล หรือไฮโดรเจน แทนถ่านหินได้ โดยการสร้างมาตรการจูงใจต่างๆ และลดอุปสรรคในการติดตั้ง และบังคับใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน รวมถึงกำหนดคาร์บอนเครดิตขึ้นมา

ส่วนภาคขนส่ง เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนสำหรับขนส่งสาธารณะ หรือใช้ระบบราง รถส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น โดยผลศึกษาพบว่ารถอีวีช่วยลดคาร์บอนได้ 50% เทียบกับการไม่มีอีวีเลย แต่นอกจากการใช้อีวีแล้วต้อาศัยเรื่องการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง โดยนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งการให้แรงจูงใจด้านภาษี หรือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนับเป็นสิ่งจำเป็น และส่งเสริมการเดินทางเปลี่ยนโหมดจากรถส่วนตัวเป็นสาธารณะ

ประโยชน์ที่จะได้รับนอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหามลพิษได้ หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศได้ 26,000 ชีวิต ระหว่างปี 2020-2050 ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ เพราะพลังงานรีนิวเอเบิลต้องติดตั้งทำให้งานใหม่เพิ่มขึ้น 8 ล้านตำแหน่งงานในปี 2020-2050 จากการเพิ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลม และยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 4.5 ล้านล้านบาท

ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิล และที่สำคัญยังช่วยลดผลกระทบจากมาตรการทางการกีดกันทางค้า เช่น CBAM ที่สหภาพยุโรปจะบังคับใช้ หากเราไม่ดำเนินการก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมย้ายฐานไปยังประเทศอื่น เช่น ประเทศเวียดนาม ในอนาคต

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส.อ.ท.กล่าวว่า การดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรมคำนึงถึงธุรกิจเป็นหลัก เพราะภาคเอกชนยังคงต้องพึ่งพากันเอง อยากภาครัฐช่วยผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน และปรับแผนการดำเนินงาน เพราะความเป็นจริงภาคเอกชนมีเวลา 5-10 ปี ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดผลสำเร็จ