“สมคิด” โรดโชว์ดันส่งออก ถกทูตพาณิชย์ 19 ก.พ.ลุ้นเป้าปี’61

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะจัดประชุมสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก หรือ “ทูตพาณิชย์” ทั่วโลก โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ พร้อมด้วย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มาร่วมกันให้นโยบาย เพื่อผลักดันการค้า การส่งออก ให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมรายงานสถานการณ์ด้านการค้า การส่งออกของประเทศคู่ค้า รวมถึงการลงทุนในประเทศนั้น โดยเฉพาะการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ (strategic partnership)
ลุ้นเป้าส่งออกทูตพาณิชย์ทั่วโลก

การประชุมทูตพาณิชย์ครั้งนี้จะมีการวางเป้าหมายการส่งออกของไทยทั้งปี 2561 ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางที่หลายหน่วยงานประเมินไว้เบื้องต้นหรือไม่ ในกรอบระหว่าง 4-7.5% ขึ้นอยู่กับการประเมินมุมมองด้านปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยสนับสนุนของแต่ละหน่วยงาน

ที่ผ่านมาทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัว 5% ส่วน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์การส่งออกขยายตัว 6.5-7.5% ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์การส่งออกขยายตัว 5.7% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือสภาผู้ส่งออก คาดการณ์ส่งอออกขยายตัว 5.5% ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดส่งออกขยายตัว 4% ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะได้ทราบเป้าหมายรวมการส่งออก รวมไปถึงเป้าหมายการส่งออกในรายประเทศ

ปัจจุบันสถานการณ์ด้านการค้า การส่งออกที่เป็นปัจจัยเอื้อให้การส่งออกขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวสนับสนุนให้การส่งออกดี รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อาเซียน เป็นต้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ รัสเซีย กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS และแอฟริกาใต้

การท่องเที่ยวภายในประเทศขยายตัว แนวโน้มการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และธุรกิจ E-commerce มีมากขึ้น การปรับตัวของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การปรับลดภาษีนำเข้าของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ EU

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกให้ความสำคัญ และต้องติดตามเป็นอย่างมากในตอนนี้คือ “เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน” ที่มีความผันผวนมาก หากเทียบค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ จึงต้องการให้หน่วยงานที่ดูแลเข้ามาช่วยเหลือให้ค่าเงินมีเสถียรภาพในการแข่งขัน

ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าและมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ ผลกระทบจาก

Brexit การกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing) มาตรการแรงงาน มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ของตะวันออกกลาง

เวียดนามกำหนดมาตรการตรวจสอบรถยนต์ที่นำเข้าทุกคัน ซึ่งมีผลให้เกิดการล่าช้าในการนำเข้า หากเกิดปัญหาไม่สามารถนำเข้ารถยนต์ไปได้ แนวนโยบายกำหนดนโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะจีน อินโดนีเซีย

ปัญหาค่าระวางขนส่งทางเรือที่แนวโน้มสูงขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงซึ่งจะเป็นต้นทุนในการผลิต การลดภาษีนำเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน จะทำให้สินค้าไหลเข้าไทยและกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคการค้า การส่งออกในปีนี้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แผนผลักดันส่งออกกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวตามเป้าหมาย นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า มาตรการผลักดันการส่งออกในระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนกว่า 10,000 รายที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตร เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า เป็นต้น จัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม และการทำตลาดภาคบริการลงไปในทุกภูมิภาค

การสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน (strategic partnership) หรือพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งในปี 2561 ได้กำหนดการไปเยือนประเทศสำคัญ เพื่อต่อยอดและขยายผลทางธุรกิจ นำทีมโดยผู้บริหารระดับสูง เพื่อไปร่วมประชุมเจรจาธุรกิจการค้า หรือ JTC และการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยและประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการต่อยอดการค้า การส่งออก รวมไปถึงการลงทุนด้วย เช่น นายสมคิด รองนายกรัฐมนตรี นำทีมเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 7-11 ก.พ. 61

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำทีมเดินทางไปเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ. 61 และเยือนฮ่องกง วันที่ 20 มี.ค. 61 ขณะนี้นางสาวชุติมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำทีมเยือนอิหร่านระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ. 61 เยือนอียิปต์ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. 61

ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในปี 2561 กว่า 329 กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.การขยายตลาด โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เช่น การสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจ อย่างลาว เวียดนาม ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย จีน เป็นต้น รวมถึงการบุกเมืองรอง เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ยกระดับสินค้าไทย 2.ธุรกิจบริการ ผลักดันธุรกิจเพื่อสุขภาพ การให้บริการด้านการรักษา การผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลคอนเทนต์ในอาเซียน สนับสนุนธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น

3.รายคลัสเตอร์ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางในการแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมไปถึงงานสินค้า
ไลฟ์สไตล์ งานแสดงสินค้าอาหาร 4.พัฒนาผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการและผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ให้ความรู้เพิ่มทักษะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและสถาบันการศึกษา ภายใต้หลักสูตรที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการไว้กว่า 33 หลักสูตรผ่านสถาบัน NEA และ 5.ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการภายใต้โครงการต่าง ๆ เช่น พี่จูงน้อง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการทำตลาดในประเทศเป้าหมาย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ เพื่อผลักดันการส่งออก

เทรนด์สินค้า-บริการโดดเด่น

ที่สำคัญในเรื่องเทรนด์ที่ไม่อาจมองข้าม และกลายเป็นตัวชูโรงให้การส่งออกขยายตัว เริ่มจากสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ที่มีความต้องการสูง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังขยายตัวในแต่ละประเทศ ดังนั้น สินค้าที่เกี่ยวข้องจะมีความต้องการมากขึ้น กลุ่มฮิสแปนิก กลุ่มที่มีศักยภาพสูงในสหรัฐ กลุ่มสัตว์เลี้ยง กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม แม้กลุ่มนี้ยังไม่เติบโตมากนัก แต่อนาคตจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น

สินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ กลุ่มธุรกิจ สินค้า และบริการดังกล่าวเป็นอนาคตที่กำลังมีการเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด หากผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทยเตรียมตัว เพื่อรองรับตลาดเชื่อว่าจะเป็นตัวสำคัญที่จะขยายตลาดส่งออกได้ในอนาคต

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”