ทุนไทยฝ่ามรสุมในเมียนมา สู้ไม่ถอยค้าปลีก-โรงพยาบาล

ยศธน กิจกุศล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นเวลาเกือบสองปี ที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายภายในประเทศเมียนมา ส่งผลถึงนักลงทุนต่างประเทศที่ได้ขยายเข้าไปลงทุนในเมียนมาก่อนการรัฐประหาร จำเป็นต้องปรับแผนฝ่าความท้าทายครั้งใหญ่ให้ธุรกิจยืนหยัดต่อไปได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ยศธน กิจกุศล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แวนสัน (ประเทศไทย) จำกัด หรือในอีกหมวกคือ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กรรมการบริษัท Ga mone pwint จำกัด

ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ก่อสร้างโรงพยาบาล อายุ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล (Aryu International Hospital) ที่เมืองย่างกุ้ง ด้วยงบประมาณ 2,400-2,500 ล้านบาท ในเฟสแรก ปี 2561 บริษัท GMP จำกัด (หรือ Ga Mone Pwint) บริหารห้างใหญ่ท็อป 3 และโรงแรมในเมียนมา แต่ผ่านมาถึงปี 2564 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้ภาพรวมการทำธุรกิจในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

Q : หลังรัฐประหาร นักลงทุนเป็นอย่างไร

นักลงทุนแต่ละรายก็ปรับตัวตามสภาพ และบางรายที่กระทบเยอะก็จะถอนตัว แต่สำหรับนักลงทุนไทยในอุตสาหกรรมการ์เมนต์ก็ยังลงทุนกันอยู่ และพอไปกันได้ ส่วนของโรงพยาบาลที่เราร่วมทุนด้วยก็ถือว่าไปได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องรัฐบาลห้าม คือการจำกัดการใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งทำให้ค่าเงินอ่อนไปเยอะ การปรับตัวนั้นทางทีมบริหารก็มีการปรับส่วนของเงินกู้จากดอลลาร์เป็นจ๊าตแทน

Q : ในส่วน รพ.ยังไปต่อ

โรงพยาบาลเปิด 3 ปีแล้ว การดำเนินธุรกิจตอนนี้ยังทำได้ปกติ แต่มีความขลุกขลักในเรื่องที่เราแพลนไว้ คือจะเอาหมอจากไทยไปประจำ ก็ยังไม่สามารถจะเอาเข้าไปได้ โดยในช่วงแรกที่เปิดทางเรานำทีมแพทย์จากไทยเข้าไป 2-3 ท่าน พอเจอโควิดก็จำเป็นต้องถอนออกมา ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าผิดแผนนิดหน่อย

ตอนนี้เราเดินหน้าต่อ ยังอยู่ต่อ เพราะธุรกิจมันยังไปได้ต่อ โรงพยาบาลตอนนี้มีคนรู้จัก โดยเฉพาะเรื่องการคลอด เราถือว่ามีชื่อเสียงส่วนงานนี้มีลูกค้ามาใช้บริการเยอะ ซึ่งยอดการเข้ารับการรักษา OPD จากช่วงแรกที่เปิดประมาณ 100 รายต่อวัน ตอนนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 500-600 คน โรงพยาบาลเรารีครูตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมงานกับเรามากขึ้น โดยยังคงต้องใช้แพทย์ของเมียนมาเป็นหลัก

Q : ส่วนธุรกิจค้าปลีกในเมียนมา

ค้าปลีกจะมีผลกระทบเยอะ เพราะกำลังซื้อลดลงไปมาก เพราะว่าเงินไม่เข้าและค่าเงินอ่อน ทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปมีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อ

Q : มีแผนปรับลด-เพิ่มสาขา

ยังคงมีจำนวนสาขาเท่าเดิม 5 สาขา และแพลนจะขยายอีก 3-4 โครงการ ทั้งในเมืองย่างกุ้ง และเนย์ปิดอว์ ซึ่งก็ต้องเจรจากับภาครัฐในเรื่องผลประโยชน์ก่อน

Q : ทำไมจึงมั่นใจขยายสาขา

ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อยู่ที่รัฐบาลเป็นหลักว่าจะมองอย่างไร ภาพรวมเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาผลกระทบเยอะ เรื่องโควิด และการลงทุนก็ไม่เข้าไป เพราะมันอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตของประเทศ

Q : ธุรกิจการ์เมนต์ในไทย

เดิมมีส่งไปเมียนมา แต่ตอนนี้ก็ลดลง เพราะต้นทุนในประเทศไทยก็ขยับขึ้น ค่าแรงเราก็ขึ้น สินค้าแพงขึ้น กำลังซื้อลดลง สินค้ายังไปได้แต่ก็ลดลง ปีนี้เรายังมองว่าถ้าเทียบกับปีก่อนที่มีโควิดน่าจะดีกว่า แต่จะโตมากหรือน้อย เพราะว่าค้าปลีกที่เมียนมาก็มองหาเสื้อผ้าราคาถูก และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีสินค้าที่ส่งมาจากจีนเป็นหลัก

“เราก็หวังว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะฟื้นกลับมา ถ้าเขาโอเพ่นมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเขากลับมาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเหมือนกับไทย จะเป็นหนทางในการฟื้นเศรษฐกิจที่ง่ายและเร็วที่สุด เพราะทุกคนก็อัดอั้น”

สำหรับมาตรการตอนนี้ยังมีการเข้าเมียนมายังต้องตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ แต่ถ้าเค้าไม่ตรวจการเข้าประเทศง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไป

Q : แนวโน้มปี’66

เราก็มองหาช่องทางใหม่ ๆ ลุยธุรกิจใหม่ ๆ คือประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า ถ้าเรามีแค่ช่องเดียว ธุรกิจเดียว ถ้าเวลาเกิดอะไรขึ้น ผลกระทบเยอะ เหมือนโต๊ะขาเดียวกับโต๊ะ 4 ขา ดังนั้นก็ต้องกระจายความเสี่ยง

“ตอนนี้ได้ขยายการลงทุนผลิตอาหารเสริม มุ่งไปในธุรกิจเฮลท์แคร์ เราก็รู้สึกว่าเราต้องมีตัวช่วย เราจึงเริ่มผลิตและจำหน่ายแบรนด์ Sharisma ในช่องทางไดเร็กต์เซลมาปีเศษ ๆ”

สินค้าใหม่ที่ทำ เน้น Telos 95 ทำจากเถาองุ่นกับโอลีฟ ช่วยยืดเทโรเมียร์ หรือปลายโคโมโซม คือถ้าตอนที่เรายังเด็ก เทโรเมียร์จะยาว แต่พออายุมากขึ้นจะหดสั้นลง สร้างเซลล์ได้น้อยลง


“แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้สูง เป็นเรดโอเชียน แต่เราก็พยายามพัฒนาสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่รับประทานได้ทุกวัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีคามูคามู ดีกว่าวิตามินซี แอสตร้าซานติน และคนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ตลาดนี้มูลค่าหลายหมื่นล้าน ยังมีโอกาสโตได้อีกเยอะ”